เปิด 10 ไอเดีย ปรับฟังก์ชันครัวขนาดเล็ก ให้จิ๋วแต่แจ๋ว

เปิด 10 ไอเดีย ปรับฟังก์ชันครัวขนาดเล็ก ให้จิ๋วแต่แจ๋ว

ในยุคสมัยที่วัยทำงานหรือครอบครัวขนาดเล็ก เลือกอยู่อาศัยตามคอนโดที่มีพื้นที่จำกัด ตลอดจนบ้านทาวน์โฮมสไตล์ใหม่ที่ไม่ได้มีพื้นที่มากนัก แต่เน้นฟังก์ชันตอบโจทย์การใช้สอยและคุ้มค่ากับพื้นที่ ส่งผลให้ครัวสมัยนี้ มักมีพื้นที่ใช้สอยเล็กลงตามไปด้วย แต่เมื่อพื้นที่ถูกทำให้แคบลง นั่นไม่ได้หมายความว่า ประโยชน์ใช้สอยจะน้อยตามขนาดพื้นที่ เพราะจริง ๆ แล้ว การมีครัวขนาดเล็ก ก็สามารถเลือกปรับนิดปรุงหน่อย เสริมไอเดียดี ๆ พร้อมเฟอร์นิเจอร์ให้มีฟังก์ชันการใช้งานหลากหลาย ก็จะช่วยให้เราปรับฟังก์ชันครัวเล็กของเราให้จิ๋วแต่แจ๋วได้

วันนี้ Kudos เลยจะพาทุกคนไปเปิดไอเดีย ปรับครัวในบ้านหรือคอนโดที่มีขนาดจำกัดให้ใช้งานได้ดียิ่งขึ้น

10 เทคนิคดี ไอเดียเด็ด ที่จะช่วยปรับฟังก์ชันครัวพื้นที่จำกัด ให้ครบเครื่อง

10 เทคนิคดี ไอเดียเด็ด ที่จะช่วยปรับฟังก์ชันครัวพื้นที่จำกัด ให้ครบเครื่อง

 

1. สำรวจพื้นที่ใช้สอยและการใช้งาน

ก่อนที่เราจะปรับหรือประยุกต์ครัวให้ครบเครื่องครบฟังก์ชัน เราจำเป็นต้องสำรวจพื้นที่ความกว้าง และกำหนดขอบเขตชัดเจนว่าจะวางรูปแบบครัวในสัดส่วนไหน โดยจำเป็นต้องคำนึงถึงการใช้งานจริงเป็นหลัก หลายบ้านอาจต้องการครัวทันสมัยในแบบมินิมอล ใช้งานน้อยแต่ครบ ตอบโจทย์การใช้ครัวโดยทั่วไป หรือในผู้ใช้ที่ถึงแม้จะมีพื้นที่จำกัด แต่ก็อยากได้ครัวที่รองรับการใช้งานที่หนักพอสมควร อาจเนื่องด้วยเป็นคนชอบทำอาหาร ปัจจัยที่กล่าวมานั้น คือปราการด่านแรกที่จำเป็นต้องไตร่ตรองมาก่อนเสมอ เพื่อให้การจัดวางได้ประโยชน์ใช้สอยที่ครบถูกใจแม้ในพื้นที่คับแคบ

2. ใช้แบบครัว รูปแบบตัว I หรือ L

ถัดจากการสำรวจพื้นที่และการใช้สอย นั่นก็คือการเลือกรูปแบบครัวที่จะใช้งานได้ดีในพื้นที่จำกัด ส่วนใหญ่ไม่ว่าจะคอนโดหรือบ้านขนาดเล็ก รูปแบบครัวมักถูกบีบให้มีพื้นที่เล็กลงเสมอ และโดยปกติ พื้นที่จำกัดแบบนี้ จะเหมาะกับการวางเคาน์เตอร์หลักชิดผนังเพียงฝั่งเดียว ซึ่งรูปแบบดังกล่าวมักปรากฏในเคาน์เตอร์ตัวไอหรือตัวแอล

  • ครัวรูปแบบตัวไอ (I) : รูปแบบตัวไอ จะเป็นการจัดวางแปลนและองค์ประกอบครัวชิดผนังเพียงฝั่งเดียว โดยจะออกแบบเคาน์เตอร์บาร์ชิดริมผนังเป็นแนวยาวเพื่อประหยัดพื้นที่ มักมีโซนจัดเก็บเครื่องใช้เป็นตู้ใต้เคาน์เตอร์ หรือ ชั้นลอย จะมีโซนทำ โซนเก็บ และโซนล้าง ที่อยู่ในแปลนตัวไอนี้อย่างเสร็จสรรพ ทำให้เหมาะและสะดวกต่อพื้นที่ที่จำกัด โดยเฉพาะคอนโดที่นิยมวางแปลนครัวเป็นรูปตัวไอ
  • ครัวรูปแบบตัวแอล (L) : รูปแบบตัวแอล เป็นการจัดวางแปลนครัวที่ชิดผนังฝั่งเดียว แต่จะมีส่วนหักมุมเพิ่มเข้ามาคล้ายกับฐานของตัวแอล เพื่อให้ครัวดูโปร่งและกว้างมากขึ้น ครัวรูปแบบนี้อาจมีการจัดสรรพื้นที่คล้ายกันกับแบบตัวไอ เพียงแต่โซนทำ-เก็บ-ล้าง สามารถขยายออกมาในส่วนต่อขยายที่เพิ่มขึ้น ทำให้เรามีเนื้อที่ในการจัดโซนที่กว้างกว่า แต่ก็ยังถือว่าเหมาะกับบ้านหรือคอนโดที่มีพื้นที่จำกัด

3. โทนสีอ่อนหรือสว่าง เพิ่มความกว้างและมิติ

โทนสีสามารถสร้างมิติให้ห้องครัวที่คับแคบดูกว้างขึ้นได้ รวมถึงขับส่งบรรยากาศให้รู้สึกดูโปร่งโล่งสบาย ซึ่งมักจะมากับโทนสีอ่อนหรือสว่าง เช่น ขาว ครีม หรือ แนวเอิร์ธโทน เป็นต้น รวมถึงการเลือกจับคู่สีครัวกับอุปกรณ์ของใช้ให้ไปในทางเดียวกัน จะทำให้องค์รวมดูสะอาดตาได้ ถึงแม้ครัวจะเล็กแค่ไหน ก็ดูไม่ขัดตา

4. เพิ่มแสงไฟให้เพียงพอ

สิ่งสำคัญของครัวขนาดเล็กหรือครัวที่มีพื้นที่จำกัด คือจะต้องไม่ปล่อยให้ครัวดูมืดทึบหรือขาดแสงสว่าง เพราะจะยิ่งทำให้ดูน่าอึดอัดได้ ฉะนั้น ควรติดตั้งไฟให้ความสว่างเพียงพอ อาจปรับใช้เป็นหลอด LED ติดเพดาน หรือจะเสริมด้วยโคมไฟประดับก็ได้ แต่ถึงอย่างนั้น หากปรับทิศทางครัวให้มีหน้าต่างรับแสงธรรมชาติได้ก็ยิ่งดี

5. เลือกเฟอร์นิเจอร์หลายฟังก์ชัน

สำหรับครัวขนาดเล็ก นอกจากจะต้องจัดสรรพื้นที่อย่างประหยัด การเลือกเฟอร์นิเจอร์ที่มีฟังก์ชันการใช้งานหลากหลายจะช่วยให้ครัวเล็ก แม้จะจิ๋วแต่ก็แจ๋วได้ เช่น ชั้นวางที่สามารถปรับแต่งหรือโยกย้ายขนาดระหว่างชั้นเพื่อรองรับการใช้งานอย่างหลากหลาย จะสิ่งของขนาดใหญ่ก็แค่ปรับช่องใช้กว้างขึ้น หรือจะ โต๊ะรถเข็นสารพัดประโยชน์ (Kitchen Trolley) ที่มีรูปแบบคล้ายกับ Mini Island หรือ เกาะกลางขนาดย่อม มักมีฟังก์ชันทั้งจัดเก็บที่ใช้งานบ่อย ในบางอันจะมีท็อปด้านบนที่สามารถตัดหั่นหรือทำอาหารได้ย่อม ๆ อีกด้วย

ห้องครัวขนาดเล็ก

 

6. แต่งครัวด้วยกระจกหรือวัสดุปิดผิว

หากครัวมีขนาดเล็กและดูไม่มีมิติสักเท่าไหร่ นอกเหนือจากการจัดไฟ ให้ลองแต่งครัวด้วยกระจกและวัสดุปิดผิวมันวาว เช่น การใช้กระจกตกแต่งบางส่วนของผนังครัวเพื่อให้พื้นที่ดูกว้างและมีมิติสะท้อน หรือ จะโต๊ะทานข้าวขนาดเล็กที่มีกระจกก็ยิ่งช่วยให้ครัวเล็กดูมีลูกเล่นได้ นอกจากนี้ยังมี การใช้วัสดุปิดผิวมันวาว (Gloss) กับผิวเคาน์เตอร์ หรือ ตู้แขวนผนัง ความมันวาวของสิ่งเหล่านี้เมื่อสะท้อนกับไฟ จะช่วยให้ครัวดูไม่แคบและมีความสว่างสดใสเพิ่มขึ้นด้วย

7. เลือกใช้ชั้นวางแบบเปิด (Open Shelf)

หากครัวบ้านไหนมีขนาดเล็กกะทัดรัดจนไม่สามารถวางตู้แขวนผนังหลายๆอันได้ แต่ก็อยากให้โซนครัวมีพื้นที่จัดเก็บเยอะขึ้นโดยที่ยังดูกว้างขวางอยู่ ให้ลองปรับใช้ ‘ชั้นวางแบบเปิด (Open Shelf)’ ที่ได้ประโยชน์ทั้งในแง่จัดเก็บของสารพัดอย่างและยังทำให้ห้องครัวดูกว้างไม่แคบ เพราะชั้นวางแบบเปิดนี้ จะมีลักษณะที่โปร่ง ไม่หนาทึบ ไม่บดบังพื้นที่ของครัว และที่สำคัญ ยังทำให้เราหยิบจับใช้สิ่งของได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

8. ใช้บรรจุภัณฑ์จัดเก็บแทนแพ็กเกจเดิม

เคยรู้สึกไหมว่า การซื้อของใช้ อาหาร หรือ วัตถุดิบมาแต่ละที พอจัดวางเข้าที่ก็ยังดูรกตาและกินเนื้อที่ไปเยอะเหลือเกิน นั่นก็เพราะบรรจุภัณฑ์ดั้งเดิม เช่นกล่อง ลัง หรือถุงซอง อาจไม่เหมาะกับการจัดวางในครัวที่มีพื้นที่แคบ ๆ เพื่อให้ครัวดูเป็นระเบียบและใช้งานได้หลากหลายขึ้น เราควรจัดหาบรรจุภัณฑ์พลาสติกหรือภาชนะเสริม เช่น กล่องพลาสติกเข้าเซต โถหรือขวดใส่วัตถุดิบ เพื่อถ่ายเทจากแพ็กเกจเดิมมาใส่ลงภาชนะใหม่ นอกจากจะทำให้พื้นที่ประหยัดขึ้นแล้ว ยังมีประโยชน์ในแง่ของความง่ายดายในการใช้สอยและดูสวยงามเป็นระเบียบไปในตัว

9. จัดองค์ประกอบครัวในแนวตั้ง

อีกหนึ่งเทคนิคที่ช่วยให้ครัวเล็กๆมีฟังก์ชันการใช้งานที่หลากหลายขึ้นได้ คือการจัดส่วนพื้นที่เก็บให้อยู่ในแนวตั้ง เพราะในพื้นที่ครัวที่มีจำกัด หากจัดองค์ประกอบตู้เก็บของหรือชั้นวางกระจายไปทางด้านข้างจะยิ่งทำให้พื้นที่ครัวถูกใช้งานเพิ่มไปอีกและดูแคบกว่าเดิมได้ ฉะนั้น หากมีการจัดวางแปลนครัวแบบชิดเพียงหนึ่งฝั่ง ควรเสริมจำพวก ตู้แขวนผนัง ตะขอแขวนติดผนัง หรือชั้นวางแนวตั้งที่เข้ามุม เพื่อทำให้พื้นที่จัดเก็บถูกจัดระเบียบอยู่ในแนวเดียวกัน ประหยัดพื้นที่ส่วนกลาง สร้างสเปซให้ผู้ใช้งานได้มากขึ้น

10. จัดระเบียบเคาน์เตอร์ครัวให้โล่งอยู่เสมอ ตามแนวคิด Marie Kondo

อีกหนึ่งสิ่งที่จะช่วยเราปรับฟังก์ชันการใช้งานครัวให้ใช้งานได้ดีอยู่เสมอ นั่นก็คือ อย่าลืมที่จะจัดระเบียบเคาน์เตอร์ให้สะอาด เป็นระเบียบ ไม่รกเกะกะ ตามแนวคิดการจัดบ้านที่ได้รับการกล่าวขานทั่วโลก จาก Marie Kondo ได้บอกไว้ว่า อย่าวางหรือทิ้งของไว้บนเคาน์เตอร์ เพราะจะสร้างความปวดหัวและไม่สบอารมณ์ให้กับผู้ใช้งานได้ ควรเสริมด้วยแถบแม่เหล็กสำหรับจัดเก็บมีดตามผนัง หรือ รางแขวนช้อนส้อม แก้วน้ำ และสิ่งของที่ใช้อยู่ตลอดเวลา

แนะนำอ่านต่อ : Kitchen 101 : ครบเครื่องเรื่องครัวในฝัน

เป็นอย่างไรกันบ้างกับทั้ง 10 ไอเดียเด็ดเคล็ดลับดี ช่วยปรับปรุงครัวที่มีให้สามารถใช้ได้ดีในพื้นที่แสนจำกัด ตอบโจทย์ชาวคอนโดและบ้านทาวน์โฮมขนาดย่อม แค่เพียงปรับใช้ก็เหมือนได้ครัวใหม่ที่มีฟังก์ชันหลากหลายกว่าเดิม~

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *