Kitchen 101 : ครบเครื่องเรื่องครัวในฝัน

แบบห้องครัว

หากอาหารจำเป็นต่อเรามากฉันใด ‘ห้องครัว’ ก็จำเป็นกับเรามากฉันนั้น เพราะถึงแม้เราจะไม่ถวิลหาการทำอาหารประจำวัน แต่เราต่างต้องการใช้องค์ประกอบของครัวในการดำรงชีวิตเป็นหลัก ไม่ว่าจะ ไมโครเวฟ ตู้เย็นเก็บวัตถุดิบและอาหาร โซนประกอบการทำใด ๆ ตลอดการใช้อ่างล้างจาน หรือตู้ต่าง ๆ เพื่อเก็บอุปกรณ์เครื่องครัว ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่เราต้องใช้เป็นประจำอยู่ทุกวัน และเมื่อพูดถึงครัว หลายคนมักมีภาพในหัวเป็นครัวในฝัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนรักการทำอาหารเป็นทุนเดิม บุคคลเหล่านั้นมักอยากจะรังสรรค์แต่งเติมห้องครัวในอุดมคติยามที่จะสร้างบ้านสักหลัง หรือ แม้แต่การรีโนเวทครัวเก่าขัดเกลาให้เป็นครัวใหม่ ตรงไทป์กับแบบที่ใช่ ถึงอย่างนั้น การจะสร้างครัวขึ้นมาใหม่ หรือ การรีโนเวทให้ตรงใจ ก็มักจะต้องเสียเงินเสียงบประมาณไปเยอะพอสมควร

ฉะนั้น ก่อนการสร้างหรือรีโนเวทครัวใหม่ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใส่ใจในทุกลำดับขั้นตอนเป็นพิเศษ แต่แล้วกว่าจะเสกครัวในฝันให้เป็นภาพจริงได้ เราต้องคำนึงถึงสิ่งใดบ้าง ? บทความนี้เรามีคำตอบ

5 องค์ประกอบหลักที่ต้องคำนึงถึง ก่อนสร้างหรือรีโนเวทห้องครัวในฝัน

  1. แบบที่ใช่ หาได้ด้วยตนเอง

กว่าจะมีครัวใหม่ให้ตรงกับภาพในอุดมคติ เราจำต้องเริ่มต้นด้วยการออกแบบและมองหาดีไซน์ที่ถูกใจเสียก่อน แต่หากเราจะปรึกษาสถาปนิกตั้งแต่เริ่ม เราอาจเสียเงินเพิ่มไปกับค่าปรึกษาหรือออกแบบอย่างไม่จำเป็น ทางที่ดี ให้เรามองหาแบบที่ใช่ด้วยตนเอง อย่างการรีเสิร์ชหารูปแบบห้องครัวที่น่าสนใจตามโซเชียลมีเดีย หรือ ตามเว็บไซต์ดีไซน์ต่าง ๆ บางเว็บไซต์ จะมีภาพ Visual Kitchen แบบจำลองการออกแบบครัวที่เสมือนจริง เพื่อใช้ประกอบกับภาพครัวในฝันให้เราสามารถออกแบบมาได้ตรงใจที่สุด

ตัวอย่างเว็บไซต์ที่น่าไปดูเป็นตัวอย่าง แถมมีฟังก์ชันจำลองการออกแบบได้ฟรี เหมาะกับใครที่สนใจอยากไปออกแบบกันเล่น ๆ ได้แก่

2. เรียนรู้การจัดวาง (Lay Out)

ตามหลักแล้ว การจัดเลย์เอาท์ ต้องคำนึงถึง 3 สัดส่วนที่เป็นหัวใจหลัก ได้แก่ ส่วนปรุง (เตาไฟฟ้า หรือ เตาประกอบอาหาร) ส่วนล้าง (อ่างล้างจาน) และ ส่วนเก็บ (ตู้เย็น / ตู้เก็บของ) โดยทั้ง 3 สัดส่วนหลัก มักมีระยะห่างจากกันทั้ง 3 ส่วนอย่างน้อย 45 เซนติเมตร และสามารถจัดวางได้อย่างหลากหลายตามการดีไซน์ของผู้ใช้งาน โดยรูปแบบการจัดวางครัว หรือ Lay Out มีอยู่ด้วย 5 รูปแบบยอดนิยม

  • ครัวที่มีผนังเดียว (Single Wall) : เป็นรูปแบบครัวที่จะมีผนังเพียงด้านเดียว หรือ เคาน์เตอร์รูปแบบตัว I ส่วนใหญ่จะมีองค์ประกอบทั้ง 3 ส่วนหลักเป็นแนวเดียวกัน หรือ หากมองภาพด้านบนจะอยู่ในรูปตัว I รูปแบบนี้จะเหมาะกับบ้านหรือคอนโดที่มีพื้นที่จำกัด
  • ครัวแบบ 2 ผนัง (Two wall Gallery หรือ Gallery Kitchen) : เป็นครัวที่มีผนัง 2 ฝั่งอยู่ตรงกันข้ามขนานกัน  3 โซนหลักจะสามารถแยกส่วนปรุงอยู่ในเคาน์เตอร์เดียวยาวๆ และส่วนเก็บ ส่วนล้างจะอยู่อีกผนังตรงข้ามได้ ทำให้มีพื้นที่ใช้สอยเพิ่มและสะดวกขึ้น เหมาะกับพื้นที่จำกัด ประมาณ 6 ตร.ม ขึ้นไป
  • ครัวรูปแบบตัว L (L-Shape Kitchen) : เป็นรูปแบบที่สร้างผนังและเคาน์เตอร์เป็นรูปตัว L สามารถใส่ 3 โซนหลักไปในเคาน์เตอร์ตัว L ได้ทั้งหมด หรือ แยกส่วนปรุง (เตา) เข้ากับไอแลนด์ตรงกลางได้ เหมาะกับผู้ใช้งานครัวที่มากกว่า 1 คน
  • ครัวรูปแบบตัว U (U-Shape Kitchen) : รูปแบบครัวที่มีผนัง 3 ด้านต่อกันจนเป็นตัวยู ถือเป็นแปลนครัวที่สวยงามและเหมาะแก่ห้องครัวขนาดใหญ่ แต่รูปแบบนี้จะไม่มีเคาน์เตอร์ไอแลนด์ตรงกลาง มีข้อดีตรงที่ผู้ใช้งานจะมีความคล่องตัวสู
  • ครัวรูปแบบไอแลนด์ตรงกลาง (Island Kitchen) :  ครัวที่มีไอแลนด์ตรงกลาง สามารถมีเคาน์เตอร์ทั้งรูปแบบตัว L และตัว U ได้ ด้วยเกาะไอแลนด์ตรงกลางที่สามารถจัดวางเป็นพื้นที่ใช้สอยหรือส่วนปรุงก็ได้ ทำให้ประโยชน์ใช้สอยของห้องครัวเพิ่มมากขึ้น เหมาะกับพื้นที่ขนาดใหญ

3. สัดส่วนความสูง

ครัวที่สร้างออกมาอาจตรงกับภาพที่วาดไว้ แต่พอใช้งานจริงอาจมีปัญหาเรื่องการหยิบจับข้าวของเครื่องใช้เอาได้ ถ้าหากเราไม่ใส่ใจในการคำนวณความสูงของผู้ใช้จริงกับองค์ประกอบหลักในห้องครัว ซึ่งสัดส่วนที่ควรนำมาคำนวณกับส่วนสูงผู้ใช้งาน นั่นก็คือ

สัดส่วนของเคาน์เตอร์

  • เคาน์เตอร์ที่มีส่วนสูง 83 เซนติเมตร จะเหมาะกับผู้ใช้งานที่มีส่วนสูงไม่เกิน 159 ซม.
  •  เคาน์เตอร์ที่มีส่วนสูง 85 เซนติเมตร จะเหมาะกับผู้ใช้งานที่มีส่วนสูงประมาณ 160 –  167 ซม.
  •  เคาน์เตอร์ที่มีส่วนสูง 90 เซนติเมตร จะเหมาะกับผู้ใช้งานที่มีส่วนสูงประมาณ 168 – 174 ซม.
  •  เคาน์เตอร์ที่มีส่วนสูง 92 เซนติเมตร จะเหมาะกับผู้ใช้งานที่มีส่วนสูง 175 ซม. ขึ้นไป

สัดส่วนองค์ประกอบที่สำคัญ

  • เตาปรุงอาหาร : จากรูปแบบเลย์เอาท์ เราควรจัดวางเตาปรุงอาหารให้ห่างจากส่วนอื่นๆอย่างน้อย 45 ซม. หากครัวไหนมีการเพิ่มเติมปล่องดูดควันเข้ามาด้วย ควรเว้นระยะห่างให้สูงจากเตาอย่างน้อย 50 ซม.
  • ตู้เก็บของ : ตู้เก็บของแบบลอยตัวที่เรามักเห็นในดีไซน์ใหม่ๆ มักเพิ่มประโยชน์ใช้สอยได้มากกว่าที่คิด แต่ควรมีความสูงที่ห่างจากพื้นผิวเคาน์เตอร์ ประมาณ 40 – 70 ซม. และมีความลึกจากผนังห้องประมาณ 30 – 35 ซม. เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและสะดวกต่อผู้ใช้ที่สุด

4. การเลือกอุปกรณ์และเครื่องใช้คู่ครัว

แน่นอนว่าพูดถึงเรื่องครัว จะขาดเรื่องเครื่องใช้คู่ครัวไปไม่ได้อย่างแน่นอน และเครื่องใช้และอุปกรณ์ที่เป็นดั่งหัวใจหลักที่หลายคนมักปรารถนาจะมีอยู่ในครัวที่ใฝ่ฝัน แต่สิ่งเหล่านั้นมีประเภทที่ต้องใส่ใจก่อนนำมาเลือกใช้

  • เตาปรุงอาหาร : หลักๆจะประกอบไปด้วย เตาแก๊ส และ เตาไฟฟ้า ซึ่งทั้ง 2 แบบ จะมีข้อดีและดีไซน์สวยงามที่ต่างกัน ยุคสมัยปัจจุบันเตาไฟฟ้าอาจตอบโจทย์ทั้งเรื่องความสะดวกและทันสมัย แต่เตาแก๊ส ก็ยังคงถูกเลือกใช้สำหรับใครที่ต้องการความร้อนอย่างรวดเร็วและทันใจ
  • ปล่องดูดควัน (Hood) : มีหลายรูปแบบตามการติดตั้ง เช่น ปล่องที่ติดกับผนังภายใต้ตู้เก็บของ เหมาะกับพื้นที่ขนาดเล็ก / ปล่องที่ติดจากเพดาน มักอยู่ประจำไอแลนด์ตรงกลาง / ปล่องที่ติดเหนือเตาโดด ๆ จะมีการออกแบบฝาครอบสวยงาม ซึ่งแต่ละรูปแบบสามารถเลือกจากกำลังพัดลมระบายอากาศ ระดับเสียงของพัดลม และ ขนาดของปล่องดูดควันได้
  • เตาอบและไมโครเวฟ : นอกเหนือจากการเลือกกำลังไฟและฟังก์ชันการใช้งาน เรายังสามารถเลือกพื้นที่ให้กับเตาอบหรือไมโครเวฟให้จัดวางอยู่ในแบบบิลต์อินเข้ากับสัดส่วนของตู้เก็บของได้
  • ตู้เย็น : ตู้เย็นในปัจจุบัน นอกจากจะเลือกด้วยเหตุผลของดีไซน์ ฟังก์ชันการใช้งานแล้ว อย่าลืมนึกถึงการจัดวางตู้เย็นให้เข้ากับเลย์เอาท์ที่เราเลือกไว้ กรณีที่เราไม่ได้อยากมีตู้เย็นขนาดใหญ่ สามารถวางบิลต์อินประกอบเข้ากับรูปแบบของโซนเก็บของได้
  • อ่างล้างจาน : อ่างล้างจาน (Sink) เราสามารถเลือกได้จากวัสดุที่ใช้ เช่น ทำจากสเตนเลส หินธรรมชาติ หรือ หินสังเคราะห์ และ จากดีไซน์ เช่น ดีไซน์มาตรฐาน (Standard) มาในลักษณะ 2 อ่าง ดีไซน์โมดูล่า (Modular) ที่จะมีลักษณะอ่างให้เลือกอย่างหลากหลาย ทันสมัยและเข้ากับรูปแบบเลย์เอาท์อื่น ๆ

5. การเลือกใช้วัสดุพื้นผิวเคาน์เตอร์

ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้พื้นที่ครัวน่าใช้และออกมาในรูปแบบที่ใช่ เราจำเป็นต้องใส่ใจในการเลือกวัสดุพื้นผิวเคาน์เตอร์หลัก ที่จะใช้เป็นทั้งพื้นที่ปรุงอาหารและการใช้สอยจัดเตรียม

  • หินแกรนิต  : วัสดุยอดนิยมสำหรับการทำครัว  มีดีไซน์ที่หลากหลาย มีคุณสมบัติ ทนน้ำ ทนร้อน พื้นผิวมีความมันวาว ง่ายต่อการทำความสะอาด
  • ลามิเนต : วัสดุที่มีลักษณะสวยงาม สร้างมาเพื่อเลียนแบบไม้ หิน และโลหะ มีราคาถูก สามารถทดแทนในเรื่องความสวยงามได้ แต่ในแง่ของการใช้งาน ลามิเนตจะไม่ทนร้อนและรอยขีดข่วน การติดตั้งมักมีรอยต่อ
  • หินอ่อน : หินอ่อนจะมีความสวยงามและความเป็นธรรมชาติที่โดดเด่น ให้ความเย็นเหมาะกับการรีดแป้ง แต่สำหรับการใช้งานหนัก หินอ่อนจะเกิดรอยขีดข่วนได้ง่ายและอาจเปราะบางเกินไปหากใช้งานกับครัวไทย
  • หินสังเคราะห์ : ส่วนใหญ่จะทำมาจากเรซิน อะคริลิก หรือ แร่ควอทซ์ (Quartz) มีรูปแบบสวยหรูและหลากหลายมากกว่าหินแกรนิต ทนร้อนและทนต่อการขีดข่วน ไม่ซึมน้ำ ทำความสะอาดง่าย
  • สเตนเลส (Stainless Steel) : ครัวที่วัสดุสเตนเลส มักเป็นครัวเชิงพาณิชย์ เพราะเน้นความทนทานเป็นหลัก ไม่ว่าจะทนร้อน ทนน้ำ แต่สเตนเลสมักเกิดรอยขีดข่วน จึงเหมาะกับครัวที่เน้นการใช้งานหนักแต่ไม่เน้นการโชว์ลวดลายความสวยงาม
  • กระเบื้อง : กระเบื้องที่ใช้เป็นพื้นผิวเคาน์เตอร์ครัว ส่วนใหญ่จะมาในรูปแบบ กระเบื้องเซรามิก กระเบื้องพอร์ซเลน และกระเบื้องแกรนิตโต้  แต่รูปแบบที่นิยมมากที่สุด คือกระเบื้องเซรามิก เพราะมีความทนร้อน ไม่ซึมน้ำ ทำความสะอาดง่าย ที่สำคัญมีราคาถูก
แบบห้องครัว

เป็นอย่างไรกันบ้างกับ 5 องค์ประกอบหลักที่คนรักครัวและคนที่อยากจะต่อเติมครัวใหม่ ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ แต่เหนือสิ่งอื่นใด องค์ประกอบของห้องครัวทั้ง 5 ประเด็นอาจเป็นสิ่งที่เล็กน้อยไปเลย หากเราละเลยการวางแผนอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะการจัดสรรงบประมาณ อย่าลืมที่จะหนักแน่นกับงบประมาณที่วางไว้ ไม่ปรับเปลี่ยนอะไรโดยไร้ซึ่งแผนสำรอง เพราะไม่อย่างนั้น งบประมาณจะบานปลาย จากแสนบาทอาจกลายเป็นแสนสาหัสได้ในที่สุด

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *