6 ขั้นตอนจัดระเบียบบ้านให้ดีต่อใจ สไตล์ ‘คนโด มาริเอะ’

6 ขั้นตอนจัดระเบียบบ้านให้ดีต่อใจ สไตล์ ‘คนโด มาริเอะ’

บ้านที่ดีต่อใจของแต่ละคนอาจมีดีไซน์ที่ไม่เหมือนกัน แต่แน่นอนว่าบ้านในอุดมคติเหล่านั้นจะต้องเปี่ยมไปด้วยกลิ่นอายของความสุขกายสบายใจเป็นหลัก หลายคนมักจับจ่ายซื้อของประดับหรือของใช้ในบ้าน เพื่อมาแต่งเติมบ้านอันว่างเปล่าให้ดูสดใส น่าอยู่ แต่ทว่า การเลือกซื้อของเข้ามาใหม่ ครั้งแล้วครั้งเล่า เราก็มักประสบปัญหา ซื้อมามากไปเกินความจำเป็น ไม่ว่าจะด้วยคติ “ของมันต้องมี” บวกกับความเสียดาย จะเก็บเข้ากรุก็ไม่ได้ จะคัดขายทิ้งก็เสียดาย ส่งผลให้บ้านที่เราวาดฝันเอาไว้ ดูเกะกะ รกรุงรัง ไม่น่าพิสมัยเหมือนก่อน

และเมื่อเราคิดจะจัดระเบียบบ้านครั้งใหม่ ด้วยความเสียดายและปัจจัยเดิม ๆ ทำให้ข้าวของกองพะเนินไม่ได้ถูกจัดระเบียบให้ดี กลายเป็นว่าจัดใหม่อีกกี่ครั้ง ความตั้งใจก็พังไม่เป็นท่า และบ้านก็กลับมาไม่มีระเบียบเช่นเดิม ฉะนั้นในวันนี้เราจึงจะพาทุกคนไปสัมผัสกับทฤษฎีอันน่าทึ่งจากหญิงสาวชาวญี่ปุ่น ผู้ขึ้นชื่อว่าเป็นนักเชี่ยวชาญการจัดระเบียบบ้านระดับโลก “คนโด มาริเอะ” กับทริกเด็ดเคล็ดไม่ลับ 6 ขั้นตอนการจัดบ้านใหม่ให้ดีต่อใจไปตลอดกาล

 บ้านเป็นระเบียบ ดีอย่างไร ?

ก่อนจะไปทำความรู้จักแบบจัดเต็มกับสาวมหัศจรรย์อย่าง คนโด มาริเอะ เรามาทำความเข้าใจก่อนว่า ทำไมบ้านต้องเป็นระเบียบ ข้าวของเป็นระเบียบแล้วดีอย่างไร? แท้จริงแล้ว หากความเป็นระเบียบเรียบร้อยภายในบ้านไม่ถูกจัดสรรให้ดี จะส่งผลให้ผู้อยู่อาศัยมีความกระสับกระส่าย ในทางการแพทย์ ความยุ่งเหยิงภายในบ้านมีส่วนทำให้ฮอร์โมนคอร์ติซอลที่ส่งผลต่อความเครียดนั้นเพิ่มขึ้นในร่างกาย ทำให้เราเกิดความรำคาญใจ ตลอดจนเสียสมาธิกับสิ่งที่จดจ่อ ฉะนั้น การจัดระเบียบที่ดี จะส่งผลโดยตรงต่อสภาพจิตใจและการใช้ชีวิตอย่างแท้จริง

ทำความรู้จักกับ ‘คนโด มาริเอะ’

‘คนโด มาริเอะ’ หญิงสาวชาวญี่ปุ่น วัย 38 ปี สาวมหัศจรรย์ที่คนทั้งโลกต่างยอมรับว่าเป็นเจ้าหญิงแห่งการจัดระเบียบบ้าน มาริเอะมีความหลังในวัยเด็กที่แสนอัศจรรย์และความหลงใหลในการจัดเก็บข้าวของอย่างล้นเปี่ยม ย้อนไปในวัยเด็กของเธอ มาริเอะได้รับอิทธิพลความเจ้าระเบียบโดยตรงมาจากคุณแม่และคุณย่า ด้วยวัยเพียง 5 ขวบ มาริเอะสนใจและศึกษาเรื่องการจัดระเบียบบ้านอย่างมีกลยุทธ์ แทนที่จะเล่นตุ๊กตาแบบเด็กคนอื่น ๆ มาริเอะใช้เวลาไปกับการจัดตุ๊กตาเหล่านั้นให้เป็นระเบียบเสียส่วนใหญ่ แรงบันดาลใจก่อเกิดมากมายภายในตัวเด็กน้อยคนนั้น มาริเอะมุ่งมั่นอย่างหนัก เธอลองผิดลองถูกนานกว่า 10 ปี ก่อนจะค้นพบความจริงว่า การจัดระเบียบให้มีประสิทธิภาพที่แท้จริง ต้องให้ความสำคัญที่ ‘การเก็บไว้’ ไม่ใช่ ‘การละทิ้ง’ นั่นจึงทำให้มาริเอะวัย 15 ปี ค้นพบทฤษฎี “ จุดประกายความสุข (Spark Joy)”

ในวัย 19 ปี มาริเอะ เริ่มต้นธุรกิจให้คำปรึกษาการจัดระเบียบอย่างจริงจัง ชื่อเสียงของสาวมหัศจรรย์เริ่มแพร่ออกไปเป็นวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ จนปัจจุบัน เธอเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางไปทั่วโลก มาริเอะเขียนหนังสือเกี่ยวกับการจัดระเบียบบ้านกว่า 4 เล่ม แต่ละเล่มโด่งดังและถูกแปลออกไปมากกว่า 10 ภาษาทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหนังสือที่ชื่อว่า “ชีวิตดีขึ้นทุก ๆ ด้าน ด้วยการจัดบ้านเพียงครั้งเดียว” หนังสือเล่มนี้เองที่กวาดรางวัล Best Seller และคว้ายอดขายอันดับ 1 ในญี่ปุ่น อังกฤษ อเมริกา และเยอรมนี แน่นอนว่าภาษาไทยก็ถูกแปลออกมาเป็น 1 ในเวอร์ชันเหล่านั้นด้วย

มากไปกว่านั้น มาริเอะยังถือกำเนิดทฤษฎีการจัดระเบียบบ้านอย่างเป็นทางการ ในชื่อ KonMari Methods หลักการอันชาญฉลาดที่นำแนวคิด “Spark Joy” ของเธอเข้ามาร่วม ด้วยทฤษฎีนี้ มาริเอะสนับสนุนให้ผู้คนเลือกสิ่งของที่จะเก็บ ด้วยแนวคิดที่ว่า เมื่อเราหยิบจับสิ่งไหน และสิ่งนั้นได้จุดประกายความสุขอย่างแท้จริง ให้เลือกเก็บสิ่งนั้นไว้ แต่หากสิ่งใดไม่ได้จุดประกายความสุข  “ให้คุณกล่าวขอบคุณสิ่งนั้นก่อนจะตัดสินใจทิ้งมันหรือบริจาคให้กับคนอื่นๆแทน”

ทำความรู้จักกับ ‘คนโด มาริเอะ’

6 ขั้นตอนการจัดระเบียบบ้าน ตามแนวคิด KonMari Methods

แนวคิดและทฤษฎี KonMari ที่ถูกแพร่หลายไปทั่วมุมโลก เป็นแนวทางที่ง่ายและทัชใจผู้คน แต่จะเริ่มต้นอย่างไรให้เป็นขั้นตอนกันดี มาริเอะได้มีคำตอบเอาไว้ทั้งสิ้น 6 ประการด้วยกัน

1. แน่วแน่ต่อการจัดระเบียบบ้าน

ขั้นตอนแรกนี้เป็นเหมือนกับบทปฐมภูมิที่มาเพื่อปูพื้นฐานก่อนการลงมือทำจริง มาริเอะให้ความสำคัญกับการตั้งมั่นและแน่วแน่ต่อการจัดระเบียบบ้านมาเป็นอันดับแรก คนที่สนใจในแนวคิดนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องย้ำกับตัวเองเสมอในความจริงจังและตั้งใจ จำเป็นต้องสร้างแรงบันดาลใจในตัวเองเพื่อเสริมพลังความมุ่งมั่นในตัวเองต่อการจัดระเบียบบ้าน ต้องมีความสม่ำเสมอและถาวร เพราะคอนเซปต์ที่แท้จริงคือ การปรับทัศนคติให้เป็นไปอย่างยั่งยืน ไม่ใช่เพียงครั้งเดียวจบ เมื่อทำตามขั้นตอนนี้ คุณจะรู้สึกได้ว่า ไม่ใช่แค่การจัดระเบียบบ้านที่เปลี่ยนไป แต่มันจะยังส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันและแนวคิดต่อการจัดระเบียบในอนาคต ต่อ ๆ ไปอีกด้วย เรียกได้ว่า ปรับ 1 ครั้ง = จดจำตลอดไป

2. วาดภาพในอุดมคติอยู่เสมอ

ถัดจากการตั้งมั่นและตั้งใจ ขั้นตอนนี้มาริเอะกำชับให้ผู้อยู่อาศัยวาดภาพในจินตนาการต่อบ้านในอุดมคติเอาไว้เสมอ อยากอยู่บ้านแบบไหน ให้ลองเอาตัวเองไปใส่ในภาพจินตนาการเหล่านั้น สัมผัสกับความสุขและความเปลี่ยนแปลงที่จะได้รับจากมัน ผสมกับความตั้งมั่น จะทำให้คุณค้นพบความหมายและแรงบันดาลใจต่อการจัดระเบียบบ้านอย่างแรงกล้า แนวคิดนี้จะทำให้คุณสามารถมีความสุขในการจัดระเบียบบ้านต่อไปในอนาคตได้อีกด้วย

3. ทิ้งก่อน เก็บทีหลัง

ถึงแม้มาริเอะจะให้ความสำคัญกับการเก็บมากกว่าการทิ้ง แต่ใช่ว่าการละทิ้งจะไม่สำคัญ ทฤษฎี KonMari ย้ำเตือนเสมอว่า เมื่อไหร่ที่เราสามารถแยกสิ่งของที่จำเป็นและสำคัญกับเราจริงๆออกได้ อย่ารีรอที่จะทิ้งของใช้ไม่จำเป็น อันไม่ก่อให้เกิดความสุขออกไป เพราะเมื่อไหร่ที่เราทิ้งของเหล่านั้นทั้งหมด เราจะรู้ได้ทันทีว่า สิ่งใดบ้างที่เราต้องจัดเก็บให้เป็นระเบียบ นอกจากจะเซฟเวลา จะทำให้เราเด็ดเดี่ยวกับการจัดระเบียบบ้านมากขึ้นด้วย

4. จัดระเบียบเป็นหมวดหมู่

ขั้นตอนที่ 4 นี้ เป็นดั่งหัวใจสำคัญของแนวคิด KonMari เพราะการจัดระเบียบฉบับของมาริเอะ ต้องทำเป็นหมวดหมู่ ไม่ใช่การจัดระเบียบเป็นสถานที่ไป ซึ่งแต่ละหมวดหมู่ จะมีวิธีการคัดเลือกสิ่งของตามแนวคิด Spark Joy หรือ จุดประกายความสุข

  • หมวดที่ 1 = เสื้อผ้า (Clothing) : หากเสื้อผ้าชิ้นไหนจุดประกายความสุขหรือความรู้สึกที่ดีเวลาเราได้สวมใส่มัน ให้เก็บตัวนั้นไว้ แต่หากชิ้นใดไม่จุดประกายความสุขให้เลือกที่จะทิ้งแทน
  • หมวดที่ 2 = หนังสือ (Book) : เช่นเดียวกัน คุณจำเป็นต้องพิจารณาหนังสือทีละเล่ม และตัดสินใจว่า เล่มไหนจะสามารถเดินทางไปกับคุณได้ในวันข้างหน้า เล่มใดที่หยิบจับแล้วเรารู้สึกได้ถึงความสุขทุกครั้งที่ได้อ่าน ก็ควรค่าที่จะเก็บรักษาเอาไว้ แต่หากเล่มไหนไม่ใช่ ก็ควรส่งต่อไปยังผู้อ่านคนอื่น ๆ ไม่ว่าจะการขายต่อหรือบริจาคก็ตาม
  • หมวดที่ 3 = เอกสาร (Paper) : คุณจำเป็นต้องแยกแยะเอกสารออกเป็นหมวดย่อยตามความสำคัญด้วยกัน 3 หมวดหมู่ย่อย ได้แก่ เอกสารสำคัญที่จำเป็นอย่างยิ่ง เอกสารสำคัญแต่อาจไม่ต้องจัดเก็บ และเอกสารทั่วไป เพื่อให้ง่ายต่อการค้นหาในภายหลัง
  • หมวดที่ 4 = ของจิปาถะ (Komono ภาษาญี่ปุ่น) : หมวดที่ดูจะจุกจิกเล็กน้อย และคัดแยกลำบากที่สุด นอกเหนือจากการนำแนวคิด Spark Joy มาใช้ มาริเอะแนะนำให้นำกล่องเก็บของเข้ามาเสริม ไม่ว่าจะกล่องพลาสติกสดใส หรือ กล่องไม้สไตล์ Homie
  • หมวดที่ 5 = สิ่งของที่มีคุณค่าทางใจ (Sentimental Items) : ไม่ใช่ความบังเอิญ แต่เป็นสิ่งที่มาริเอะใส่ใจ เธอตั้งใจที่จะให้หมวดหมู่นี้อยู่ในลำดับสุดท้าย เพราะคนส่วนใหญ่มักลำบากใจที่สุดในการเลือกเก็บหรือทิ้ง มาริเอะแนะนำว่า ต่อให้สิ่งของในหมวดนี้จะตัดสินใจยากแค่ไหน อย่าลืมที่จะหนักแน่นต่อแนวคิด Spark Joy เข้าไว้

5. เรียงลำดับก่อน – หลัง

ไม่เพียงแค่การจัดเก็บเป็นหมวดหมู่เท่านั้นที่สำคัญ แต่ทุกหมวดหมู่นั้นจะต้องทำเป็นลำดับขั้นตอน 1 – 5 จากหมวดหมู่ข้างบน เป็นแนวทางที่มาริเอะวางมาอย่างตั้งใจ เพื่อให้ประหยัดระยะเวลาในการจัดระเบียบมากขึ้น เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยและรวดเร็ว จะเห็นได้ว่า การเริ่มต้นที่หมวดเสื้อผ้า นั้นง่ายกว่าการคัดสิ่งของในหมวดที่ 5 อย่างเห็นได้ชัด

6. ตอกย้ำกับตัวเองด้วยทฤษฎี ‘Spark Joy’

เมื่อดำเนินมาถึงขั้นตอนนี้ เราจำเป็นจะต้องเชื่อมั่นในสิ่งของที่สามารถสร้างความสุขให้เราอยู่เสมอ ตั้งมั่นในความรู้สึกของตัวเอง หากมีสิ่งของชิ้นไหนที่ลังเล อย่าลืมทบทวนถึง Spark Joy เอาไว้ตลอดเวลา อย่าเร่งรีบกับการจัดเก็บ หยิบของทีละชิ้นอย่างตั้งใจ และถามความรู้สึกตัวเองเข้าไว้ว่าเรามีความสุขแท้จริงหรือไม่กับของชิ้นนี้ และเราจะได้คำตอบในที่สุด

เป็นอย่างไรกันบ้างกับแนวคิดทั้ง 6 ขั้นตอนของสาวมหัศจรรย์ คนโด มาริเอะ ที่ต้องยอมรับเลยว่าเป็นต้นแบบการจัดระเบียบบ้านที่อบอุ่นใจมาก ๆ เพราะในทุกขั้นตอนทั้ง 6 โดยเฉพาะการคัดเลือกสิ่งไหนจำเป็นหรือสิ่งไหนไม่จำเป็น มาริเอะจะเสนอให้เรากล่าวขอบคุณสิ่งเหล่านั้นก่อนการละทิ้งเสมอ เพื่อให้เรารู้สึกเสียดายสิ่งนั้นน้อยลง ที่สำคัญ ยังช่วยสร้างทัศนคติดี ๆ ต่อการจัดระเบียบอย่างมีความสุขอีกด้วย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *