ออกแบบห้องน้ำผู้สูงอายุอย่างไร!? ให้อุ่นใจทั้งครอบครัว

ออกแบบห้องน้ำผู้สูงอายุอย่างไร!? ให้อุ่นใจทั้งครอบครัว

ในยุคสมัยที่ผู้คนหันมาให้ความสนใจกับที่อยู่อาศัยมากขึ้น อีกทั้งยังมีกระแสของ “สังคมผู้สูงอายุ” ในประเทศไทยเข้ามาเกี่ยวข้อง ปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงในการออกแบบบ้านจึงไม่ได้มีเพียงแค่ความสวยงาม แต่ยังต้องตอบโจทย์วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป 

“ห้องน้ำ” เป็นส่วนสำคัญของบ้านที่ต้องออกแบบให้ดีท่ามกลางแนวโน้มของสังคมใหม่ๆ อย่าง “สังคมผู้สูงอายุ” เพราะไม่เพียงแต่ต้องคำนึงถึงดีไซน์ที่ดีเท่านั้น เรายังควรและจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใส่ใจในด้าน “ความปลอดภัย” อีกด้วย

สถานการณ์สังคมผู้สูงอายุในประเทศไทย

ย้อนเวลากลับไปก่อนหน้านี้สัก 10 ปี เราอาจมองว่า “สังคมผู้สูงอายุ” ในประเทศไทยยังไกลเกินเอื้อม เมื่อเทียบกับประเทศรุ่นพี่ที่แซงหน้าไปก่อนและไกลมากอย่างญี่ปุ่นซึ่งเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970 ก่อนจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์เมื่อปี 1994 แต่หารู้ไม่ว่าหลังจากนั้นไม่นาน ในที่สุด ปี 2005 ประเทศไทยก็เริ่มส่งสัญญาณว่ากำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุไปตาม ๆ กัน

องค์กรสหประชาชาติได้แบ่งระยะของสังคมผู้สูงอายุเอาไว้ดังนี้

  1. ระยะเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) คือสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 10% หรือ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 7% ของประชากรทั้งประเทศ
  2. ระยะสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) คือสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% หรือ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 14% ของประชากรทั้งประเทศ
  3. ระยะสังคมผู้สูงอายุเต็มที่ (Super-aged society) คือสังคมที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ

หากถามว่าประเทศไทยเรากำลังอยู่ในระยะไหน ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้สูงอายุคิดเป็น 17.9% ของประชากรทั้งหมด 66 ล้านคน และนักวิชาการเชื่อว่าไทยเราจะเข้าสู่เฟสที่ 2 ในปี 2022 นี้แล้ว ขณะเดียวกันจำนวนเด็กเกิดใหม่ของปี 2021 ในประเทศไทยก็ลดลงต่ำกว่า 500,000 คน ซึ่งต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ 

สิ่งที่เรากำลังเผชิญนี้จะทำให้เกิดปัญหาร้ายแรงกว่าที่เราคิด เพราะหากมองในระยะยาว อนาคตเราอาจขาดแคลนแรงงานที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจหรือพัฒนาชาติได้ในอนาคต อาจถึงขั้นต้องรับสมัครแรงงานจากต่างประเทศเข้ามามาก ๆ อย่างที่ญี่ปุ่นเปิดรับแรงงานต่างชาติมากขึ้นเป็นประจำทุกปีเนื่องจากขาดแคลนคนวัยทำงาน โดยในปี 2020 ญี่ปุ่นมีแรงงานต่างชาติสูงถึง 1.7 ล้านคน ขณะที่ประชากรสูงวัยอายุ 65 ปีขึ้นไปมีกว่า 36 ล้านคน นับเป็น 28.7% ของประชากรทั้งหมด

Ref; www.dmh.go.th, www.ifsa.jp, www.tyojyu.or.jp

ผู้สูงอายุกับอุบัติเหตุในห้องน้ำ

การปรับตัวให้เข้ากับยุคของสังคมผู้สูงอายุนับเป็นสิ่งสำคัญ โดยเราสามารถเริ่มได้ง่าย ๆ ที่บ้านของเราก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ห้องน้ำ” ที่ควรใส่ใจในการออกแบบเป็นอย่างแรก เนื่องจากเป็นหนึ่งในสถานที่ในบ้านที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้มากที่สุด เพราะปกติแล้ว ห้องน้ำมักจะเปียกน้ำตลอดเวลา ทำให้ลื่นล้มได้ง่าย อย่างในประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นพี่ใหญ่ในด้านสังคมผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุกับอุบัติเหตุในห้องน้ำ

จากสถิติของหน่วยกู้ภัยดับเพลิงแห่งกรุงโตเกียว (Tokyo Fire Department) พบว่าสำหรับกรุงโตเกียวเมื่อปี 2019 สถานที่ในบ้านที่ผู้สูงอายุมักประสบอุบัติเหตุมากที่สุดเป็นอันดับ 4 คือห้องน้ำ ในปีดังกล่าวมีผู้สูงอายุชาวโตเกียวที่ถูกหามส่งโรงพยาบาลเพราะอุบัติเหตุในห้องน้ำมากถึง 1,000 คน แม้ห้องน้ำอาจยังไม่ใช่อันดับหนึ่ง แต่ผลที่ตามมาก็ร้ายแรง สาเหตุหลัก ๆ มาจากการลื่นล้มซึ่งนำมาสู่อาการบาดเจ็บตั้งแต่เบาอย่างรอยฟกช้ำ ไปหาหนักคือ กระดูกร้าวหรือหัก เป็นต้น

ปัจจัยหลัก ๆ ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุในห้องน้ำได้ง่าย แบ่งได้เป็นปัจจัยทางกายภาพของผู้สูงอายุเอง และปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย

  • ปัจจัยทางกายภาพของผู้สูงอายุ : ข้อนี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเมื่ออายุมากขึ้นแล้ว ร่างกายย่อมเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นสายตาที่พร่ามัว ร่างกายที่ขาดความคล่องตัวทำให้เคลื่อนไหวได้ช้าลง หรือขาดความสมดุลในการทรงตัว นับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ไม่สามารถแก้ให้หายขาดได้
  • ปัจจัยทางด้านสภาพแวดล้อมในห้องน้ำ : ปัญหาจากสภาพในห้องน้ำไม่เอื้อต่อการใช้งานของผู้สูงอายุ มักพบในเรื่องของพื้นที่ลื่นเกินไป ลักษณะของพื้นที่ไม่สม่ำเสมอ หรือขาดที่ยึดเกาะ ข้อนี้เราสามารถแก้ไขได้โดยการออกแบบห้องน้ำที่ปลอดภัยกับทุกเพศทุกวัย หรือที่เรียกว่า Universal Design

Universal Design และการออกแบบห้องน้ำสำหรับผู้สูงวัย

Universal Design (UD) หรือที่ภาษาไทยเรียกว่า “อารยสถาปัตย์” หมายถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่คิดมาเพื่อทุกคน ไม่ได้จำกัดแค่ของใช้เพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงอาหาร การท่องเที่ยว หรือภาษาต่าง ๆ ด้วย หลักการของการออกแบบแบบอารยสถาปัตย์จะเน้นความ “ง่าย” และ “ใช้งานได้ทุกคน” ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ คนชรา หรือผู้พิการ ต้องมีสิทธิเข้าถึงผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ได้อย่างเท่าเทียม และต้องเป็นดีไซน์ที่เน้นความปลอดภัยกับผู้ใช้

Universal Design และการออกแบบห้องน้ำสำหรับผู้สูงวัย

หนึ่งในการประยุกต์ใช้การออกแบบสไตล์อารยสถาปัตย์ที่แพร่หลายมากที่สุดคือ “ห้องน้ำ” อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าห้องน้ำเป็นหนึ่งในสถานที่ในบ้านที่ก่ออุบัติเหตุได้มากที่สุด อีกทั้งปัจจุบันที่เราก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว นั่นหมายความว่าเราจะมีประชากรผู้สูงอายุที่ต้องใช้งานห้องน้ำมากขึ้น ดังนั้นเราจึงควรใส่ใจการออกแบบห้องน้ำที่คนทุกคนสามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย

ปัจจัยที่ควรคำนึงถึงในการออกแบบห้องน้ำตามหลัก Universal Design มีดังนี้

วีลแชร์

หัวใจสำคัญของการออกแบบห้องน้ำแบบอารยสถาปัตย์คือต้องเป็นมิตรกับผู้ใช้งานทุกคน นั่นหมายถึงแม้แต่ผู้ใช้งานวีลแชร์ก็ต้องสามารถเข้าถึงได้สะดวก และนี่คือปัจจัยที่สำคัญที่ควรคำนึงถึงตั้งแต่ทางเข้าไปจนถึงพื้นที่ต่าง ๆ ในห้องน้ำ

  • ประตูควรมีความกว้างเป็นพิเศษมากกว่า 90 เซนติเมตรขึ้นไป และไม่ควรมีธรณีประตู เพื่อให้รถเข็นเคลื่อนเข้าไปด้านในได้สะดวก รวมถึงยังช่วยลดอุบัติเหตุของเด็กเล็ก
  • พื้นที่ภายในห้องน้ำก็ต้องมากเพียงพอให้เคลื่อนที่ได้สะดวก โดยทั่วไปแล้ววีลแชร์จะต้องใช้ระยะหมุนตัว 150 เซนติเมตรขึ้นไป ดังนั้นพื้นที่ภายในห้องน้ำไม่ควรแคบมากกว่านั้น ขนาดที่แนะนำคือ 2000 × 2000 เซนติเมตรขึ้นไป
  • ความสูงของอ่างล้างหน้า หรืออุปกรณ์ในห้องน้ำต่าง ๆ ควรคำนึงถึงผู้นั่งรถเข็นที่จะมีระยะการมองเห็นต่ำกว่าคนทั่วไป สำหรับอ่างล้างหน้าควรสูงจากพื้น 80 เซนติเมตร และใต้อ่างควรเปิดโล่งเพื่อให้รถเข็นเลื่อนเข้าไปใกล้ได้พอดี 

การป้องกันการลื่นหกล้ม

การลื่นหกล้มในห้องน้ำนับเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยในผู้สูงอายุอันมีสาเหตุมาจากพื้นมีน้ำขังอยู่ตลอดเวลา หรือต้องก้าวขึ้นลงอ่างอาบน้ำ

  • กระเบื้อง ควรเลือกกระเบื้องที่ทำจากวัสดุหยาบเพื่อเพิ่มแรงเสียดทาน ช่วยป้องกันการลื่นหกล้มได้ดีกว่ากระเบื้องแบบผิวหน้าเรียบและเป็นมัน
  • อ่างอาบน้ำ โดยทั่วไปแล้วพื้นที่อาบน้ำแบบฝักบัวจะเป็นที่แนะนำมากที่สุดสำหรับห้องน้ำสไตล์อารยสถาปัตย์ แต่หากบ้านไหนไม่สามารถเลี่ยงการใช้อ่างอาบน้ำได้ ควรเลือกอ่างที่มีความสูงไม่เกิน 40 เซนติเมตร ซึ่งจะเตี้ยกว่าปกติ ทำให้สามารถก้าวขึ้นลงได้ง่ายขึ้น ทั้งยังลดอุบัติเหตุจากการจมน้ำได้ด้วย
  • ขอบของอุปกรณ์ต่าง ๆ ควรเป็นแบบลบมุม จะช่วยลดการบาดเจ็บได้มากกว่าแบบทั่วไปในกรณีเกิดอุบัติเหตุ
  • ระบบระบายน้ำ หากมีระบบที่ไม่ดี จะทำให้เกิดน้ำขังหรือรั่วซึม เป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุลื่นหกล้มได้ พื้นที่ห้องน้ำควรลาดเอียงเล็กน้อยเพื่อให้น้ำไหลลงท่อได้สะดวก หรือเลือกใช้สุขภัณฑ์ที่ลดปัญหาน้ำขัง หลายบริษัทมีการออกแบบสุขภัณฑ์ที่ยกสูงจากพื้นที่ช่วยลดปัญหานี้ไปได้

การทรงตัว

เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายย่อมขาดสมดุลได้ง่าย เช่น อาจเดินเซ หรือไม่สามารถยืนนาน ๆ ได้ ดังนั้นห้องน้ำแบบอารยสถาปัตย์ควรออกแบบห้องน้ำให้ช่วยอำนวยความสะดวกในเรื่องนี้

  • ราวจับ ควรติดตั้งไว้ตลอดตามทางเดิน หรือบริเวณที่ต้องย่อตัวลงนั่ง เช่น บริเวณโถสุขภัณฑ์ บริเวณโซนอาบน้ำ ทางเดินระหว่างโซนแห้งไปสู่โซนเปียก เป็นต้น
  • โซนอาบน้ำ ผู้สูงอายุอาจไม่สามารถยืนได้นานเหมือนวัยหนุ่มสาว ดังนั้นจึงควรติดตั้งม้านั่งสำหรับอาบน้ำให้ผู้สูงอายุไว้ด้วย

ความคล่องตัว

ผู้สูงอายุมักมีการเคลื่อนไหวที่ช้า ดังนั้นการออกแบบห้องน้ำที่ใช้งานง่าย มีความคล่องตัวในการเคลื่อนไหวต่าง ๆ จึงเป็นอีกสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม

  • ประตูห้องน้ำควรเลือกชนิดบานเลื่อนเพราะเปิดออกได้ง่าย หรือกรณีประตูที่ใช้ลูกบิด ควรให้ประตูเปิดออกจากตัว และใช้ลูกบิดแบบก้านโยก เพราะใช้แรงน้อยกว่า
  • ความสูงของที่นั่งหรือโถสุขภัณฑ์ ควรติดตั้งให้มีความสูงที่ 43-48 เซนติเมตร เพราะจะช่วยให้นั่งหรือลุกได้ง่ายกว่าความสูงทั่วไป
  • ความสูงของอุปกรณ์ต่าง ๆ ในห้องน้ำ ข้อนี้จะสอดรับกับเรื่องของวีลแชร์ การติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นชั้นวางของ ฝักบัว ราวแขวนผ้า ฯลฯ ไม่ควรสูงเกินกว่า 120 เซนติเมตร เพื่อให้หยิบจับได้ง่ายโดยไม่ต้องเอื้อม รวมถึงควรติดตั้งในจุดที่แม้จะนั่งอยู่ก็ยังใช้งานได้ง่าย เช่น ฝักบัวควรเลือกแบบสายอ่อน เป็นต้น
  • ตำแหน่งของอุปกรณ์ก็ควรออกแบบให้ดี เช่น ราวจับ หรือชั้นวางของ ควรคำนึงถึงกรณีที่ศีรษะอาจกระแทกได้
  • สวิตช์เปิดปิดอุปกรณ์ต่าง ๆ ควรเปลี่ยนให้มีขนาดใหญ่เป็นพิเศษเพื่อให้ใช้งานได้ง่าย
  • ระบบอัตโนมัติ เช่น ปุ่มกดประตู ก๊อกน้ำ โถสุขภัณฑ์ นับเป็นตัวช่วยให้ผู้สูงอายุใช้งานห้องน้ำได้ง่ายขึ้น เพราะช่วยทุ่นแรง

การมองเห็น

ผู้สูงอายุมักจะมีปัญหาทางด้านสายตา ดังนั้นห้องน้ำควรมีแสงสว่างที่เพียงพอ รวมถึงควรติดตั้งไฟตามทางเดินต่าง ๆ เพื่อลดอุบัติเหตุ การเลือกสีของผนังไม่ควรเป็นสีเข้ม เพราะจะเป็นอุปสรรคต่อการมองเห็น และสีของประตูควรแยกให้เด่นกว่าสีของผนัง 

กรณีฉุกเฉิน

แน่นอนว่าแม้เราจะระวังแค่ไหน อุบัติเหตุก็เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะเมื่อผู้สูงอายุจะต้องใช้ห้องน้ำเพียงลำพัง ในกรณีนั้นเกิดขึ้น เราควรติดตั้งปุ่มฉุกเฉินไว้ตามจุดต่าง ๆ ภายในห้องน้ำ และผู้ดูแลควรเก็บกุญแจสำรองไว้อีกหนึ่งชุดกรณีประตูมีการล็อกจากด้านใน

การออกแบบห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุในลักษณะอารยสถาปัตย์ หรือ Universal Design นั้น สะท้อนให้เห็นถึงความใส่ใจในทุกมิติ เป็นการนำใจเขา (ผู้สูงอายุ หรือผู้พิการ) มาใส่ในใจของผู้ออกแบบเพื่อให้คนทุกคนสามารถใช้งานได้อย่างเท่าเทียมและปลอดภัย นับว่าตอบโจทย์สังคมสมัยใหม่ที่อยู่ในภาวะสังคมผู้สูงวัยได้อย่างดี.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *