ห้องน้ำญี่ปุ่น มากด้วยเทคโนโลยี แฝงไว้ด้วยความเรียบง่าย

ห้องน้ำญี่ปุ่น มากด้วยเทคโนโลยี แฝงไว้ด้วยความเรียบง่าย

เมื่อเลื่อนบานประตูไม้เปิดออก สิ่งแรกที่จะได้พบเห็นคือเก้าอี้นั่งพื้นทรงเตี้ยตรงหน้ากระจกเงาบานใหญ่ และฝักบัวสำหรับชำระล้างร่างกาย เมื่อเดินผ่านโซนนี้ลึกเข้าไปด้านใน ทางเดินที่ปูด้วยหินจะพาไปสู่บ่อน้ำแร่ขนาดใหญ่ ซึ่งอาจจะทำด้วยไม้ หรือไม่ก็หิน ที่ติดกันนั้นคือหน้าต่างกระจกบานขนาดมหึมา หรือไม่ก็อาจจะปล่อยโล่งให้มองเห็นต้นไม้หรือสวนญี่ปุ่นด้านนอกได้ขณะอาบน้ำ เหล่านี้คือลักษณะของห้องอาบน้ำญี่ปุ่นที่เรามักพบเห็นได้ตามโรงแรมที่มีบ่อน้ำพุร้อนไว้คอยให้บริการ

คงจะดีไม่น้อยหากการรีโนเวทบ้านในครั้งนี้ เราจะสามารถยกเอาบรรยากาศห้องน้ำญี่ปุ่นที่แฝงความเรียบง่าย และกลิ่นอายธรรมชาติอย่างห้องอาบบ่อน้ำพุร้อนขนาดย่อม ๆ มาใว้ในห้องน้ำที่บ้านของตัวเองได้

ทำอย่างไรถึงจะเป็นห้องน้ำญี่ปุ่น ?

หลายท่านอาจจะมองว่าห้องน้ำเป็นเพียงแค่ห้องห้องหนึ่ง ซึ่งมีไว้สำหรับชำระล้างร่างกาย “หากแต่สำหรับคนญี่ปุ่นนั้น ห้องน้ำนับเป็นพื้นที่ส่วนตัว” ซึ่งมีไว้สำหรับการผ่อนคลายหลังจากเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานอย่างหนักในแต่ละวัน เราจึงมักเห็นความพิถีพิถัน และความใส่ใจแม้กระทั่งในที่เล็ก ๆ แห่งนี้

วัฒนธรรมการอาบน้ำแร่ส่งผลมาสู่ชีวิตประจำวันของชาวญี่ปุ่น สะท้อนจากแบบแปลนในห้องน้ำตามที่อยู่อาศัยที่ไม่มีอะไรต่างกันมากนัก โซนสุขาจัดเป็นโซนแห้ง ถัดเข้าไปจะเป็นโซนชำระล้างร่างกายให้สะอาดก่อนลงแช่น้ำ มีฝักบัว และกระจกเงา จัดเป็นโซนเปียก ลึกเข้าไปด้านในสุดมักจะเป็นอ่างอาบน้ำตั้งอยู่ติดกับหน้าต่างกระจกบานใหญ่ ที่สามารถมองเห็นต้นไม้เขียวขจีที่ด้านนอก เป็นที่สำหรับแช่น้ำให้ร่างกายได้ผ่อนคลายอย่างแท้จริง หากแต่จะทำอย่างไรให้ห้องน้ำในบ้าน กลายเป็นห้องน้ำญี่ปุ่นที่มีบ่อน้ำแร่จำลองแบบนั้นได้ สิ่งที่ควรคำนึงถึงในการออกแบบนั้นเป็นอย่างไร!?

วิถีเซน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสไตล์ “เซน” (Zen / 禅) มีอิทธิพลอย่างมากในการออกแบบที่อยู่อาศัยของญี่ปุ่น อันเป็นที่มาของสไตล์ที่ใครต่อใครต่างเรียกว่า “มินิมอล” ซึ่งจะเน้นการใช้ชีวิตที่เรียบง่าย ให้ความสงบ ขณะเดียวกันก็เคารพความมีอยู่ของธรรมชาติ แน่นอนว่าลักษณะดังกล่าวก็ส่งผ่านมายังห้องน้ำซึ่งเป็นอีกหนึ่งห้องสำคัญของบ้าน ที่ผู้อยู่อาศัยจะต้องใช้เป็นประจำในทุก ๆ วัน

ดังนั้นโจทย์ใหญ่ที่นักออกแบบมักคำนึงถึงและห้ามลืมอย่างเด็ดขาด ก็คงจะเป็น “ความเรียบง่าย” และ “ความใกล้ชิดกับธรรมชาติ” ซึ่งครอบคลุมโจทย์ปลีกย่อยที่สะท้อนความนึกคิดที่พิถีพิถัน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้วัสดุ การใช้งาน และความปลอดภัย

วัสดุและดีไซน์อย่างญี่ปุ่น

แม้จะพูดว่าเป็นดีไซน์อย่างญี่ปุ่น แต่ก็ใช่ว่าเราจะต้องถอดแบบความเป็นญี่ปุ่นดั้งเดิมมาทุกกระเบียดนิ้ว เพราะการออกแบบห้องน้ำจะต้องปรับให้ตอบโจทย์กับวิถีชีวิตของคนยุคใหม่ และความเรียบง่ายอย่างสมัยใหม่ที่เรียกว่า “มินิมอล” คือการออกแบบที่ไม่ซับซ้อน มีองค์ประกอบน้อยชิ้น เน้นความโปร่งและโล่งตา ลวดลายที่มักนำมาใช้ตอบโจทย์ความเรียบง่ายนี้ก็คือเส้นตรงเพื่อสื่อถึงความเป็นระเบียบ ตรงกับแนวคิดอย่างเซนที่ไม่สนับสนุนความยุ่งยากชวนว้าวุ่นใจ เราจึงมักเห็นการใช้เฟอร์นิเจอร์หรือการตกแต่งต่างๆ ซึ่งจะเน้นไปที่ทรงเหลี่ยมเสียมากกว่า ให้กลิ่นอายแบบโมเดิร์นนิด ๆ ส่วนเรื่องสีจะเน้นไปที่สีน้ำตาลอ่อน สีขาว หรือสีเทา เพราะเป็นสีที่สื่อถึงธรรมชาติแบบไม่มีอะไรมาเติมแต่ง

วัสดุและดีไซน์อย่างญี่ปุ่น

แน่นอนว่าวัสดุที่สื่อถึงความเป็นธรรมชาติและความเรียบง่ายได้อย่างดีที่สุดก็ต้องยกให้ “ไม้” บ่อน้ำแร่ของญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมมักจะใช้ไม้เป็นองค์ประกอบหลักอยู่แล้ว ตั้งแต่ทางเข้า การใช้แบ่งสัดส่วนต่าง ๆ การตกแต่งผนัง หรือแม้แต่อ่างอาบน้ำ หากแต่การใช้ไม้ซึ่งต้องเจอกับความชื้นจะนำมาซึ่งเชื้อรา ดังนั้นในส่วนที่ต้องถูกน้ำเป็นเวลานาน ๆ โดยเฉพาะอ่างอาบน้ำ ญี่ปุ่นจึงเลือกใช้ไม้ที่มีคุณสมบัติป้องกันเชื้อราได้อย่างไม้ “ฮิโนกิ” หรือ ไม้ “จันทร์หอม” (Sandalwood)

วัสดุและดีไซน์อย่างญี่ปุ่น ห้องน้ำญี่ปุ่น มากด้วยเทคโนโลยี แฝงไว้ด้วยความเรียบง่าย

สำหรับการประยุกต์ให้เข้ากับวิถีชีวิตสมัยใหม่อาจใช้ไม้ระแนงสีอ่อนปูบนพื้น หรือบุตกแต่งที่ผนังหรือฝ้าเพื่อเพิ่มบรรยากาศที่เป็นธรรมชาติ แต่หากใครต้องการเพิ่มลูกเล่นให้ห้องน้ำญี่ปุ่นดูมีความดิบและดูโมเดิร์นขึ้นมาเล็กน้อย “หิน” ก็เป็นอีกวัสดุนึงที่ยังคงตอบโจทย์ความเรียบง่ายและธรรมชาติตามแบบญี่ปุ่น สามารถใช้หินสอดแทรกประดับไปพร้อมกับไม้ รวมถึงการนำไปประยุกต์ใช้กับอ่างอาบน้ำก็สามารถทำได้เช่นกัน

ห้องน้ำญี่ปุ่นดูมีความดิบและดูโมเดิร์น

ในประเทศญี่ปุ่นมักจะมีประตูกั้นแบ่งห้องสุขาออกจากห้องอาบน้ำอย่างชัดเจน แต่สำหรับห้องน้ำในที่อยู่อาศัยของประเทศไทย ส่วนใหญ่มักจะรวมทั้งสุขาและโซนอาบน้ำอยู่ภายในห้องเดียว กรณีนี้สามารถใช้บานกระจกใสสำหรับการแบ่งสัดส่วนโซนสุขาและโซนอาบน้ำออกจากกันเพื่อตอบโจทย์ความโปร่งและโล่ง ทั้งยังช่วยให้แสงจากด้านนอกส่องเข้ามาได้ทั่วทั้งพื้นที่

ฟังก์ชันการใช้งาน

แม้ว่าห้องน้ำสไตล์ญี่ปุ่นจะเน้นการออกแบบที่เรียบง่ายอย่างสไตล์มินิมอล และเพื่อเป็นสถานที่ส่วนตัวสำหรับผ่อนคลายท่ามกลางความรู้สึกใกล้ชิดธรรมชาติ แต่หากสังเกตดี ๆ เราจะเห็นการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาปรับใช้ได้อย่างกลมกลืน

“KUDOS ออกแบบโถสุขภัณฑ์อัตโนมัติ” ด้วยแนวคิด Universal Design คำนึงถึงการใช้งานที่ปลอดภัย พร้อมด้วยฟังก์ชันการใช้งานและเทคโนโลยี ที่ทำให้ผู้ที่สนใจออกแบบห้องน้ำในสไตล์ญี่ปุ่นนั้น มีทางเลือกในการใช้งานสุขภัณฑ์ที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีแบบฉบับบญี่ปุ่น

ความลำบากที่ต้องแลกมากับการมีห้องน้ำสวย ๆ และขนาดใหญ่ก็คือการทำความสะอาด ปัญหาหนึ่งคือเรื่องของเชื้อราซึ่งเกิดมาจากความชื้นที่หมักหมม แม้จะบอกว่าห้องน้ำญี่ปุ่นมีกระจกหน้าต่างขนาดใหญ่ให้แสงสาดส่องเข้าถึงได้ก็อาจจะยังไม่พอ ดังนั้นจึงควรมีตัวช่วย นั่นคือการติดตั้งเครื่องระบายความชื้นซึ่งควรเปิดใช้หลังอาบน้ำเสร็จทุกครั้ง

นอกจากนั้นในส่วนของอ่างอาบน้ำ อ่างล้างหน้า หรือบริเวณเคาน์เตอร์ที่ต้องโดนน้ำบ่อย ๆ หากปล่อยทิ้งเอาไว้อาจทำให้เกิดคราบน้ำไม่สวยงาม การดูแลในส่วนนี้จึงเป็นเรื่องที่สร้างความยากลำบากอย่างมาก ดังนั้นควรเลือกวัสดุที่ทำความสะอาดได้ง่าย ยกตัวอย่างบางบริษัทของญี่ปุ่นมีการคิดค้นอ่างอาบน้ำที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ผลิตจาก organic glass ซึ่งจะช่วยรักษาความเงางามของพื้นผิวได้นานมากยิ่งขึ้น

สุขภัณฑ์การประหยัดพลังงานและประหยัดน้ำ

การประหยัดพลังงานและประหยัดน้ำก็เป็นสิ่งสำคัญ ในเรื่องของก๊อกน้ำและวาล์วน้ำต่าง ๆ ควรเลือกใช้แบบอัตโนมัติซึ่งสามารถควบคุมปริมาณน้ำได้ดี ทั้งยังหมดปัญหาการลืมปิดน้ำได้อีกด้วย ส่วนอ่างอาบน้ำซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของห้องน้ำแบบญี่ปุ่น ผู้ใช้งานสามารถเพลิดเพลินกับบ่อน้ำพุร้อนส่วนตัวง่าย ๆ ได้ที่บ้านเพียงติดตั้งเครื่องปล่อยน้ำสไตล์น้ำตก ทำให้ได้ทั้งความสวยงามและความทันสมัย ไปในตัว

เทคโนโลยีห้องน้ำญี่ปุ่น

ในส่วนของแสงสว่างนั้น เนื่องจากห้องน้ำแบบญี่ปุ่นมักถูกออกแบบให้มีกระจกบานใหญ่เปิดรับแสงจากด้านนอกเข้ามามาก ดังนั้นจึงลดในเรื่องของไฟส่องสว่างลงได้ อาจใช้เป็นโคมไฟดาวน์ไลท์ที่ให้แสงสว่างที่ไม่จ้าเกินไป นอกจากจะช่วยลดการใช้ปริมาณไฟฟ้า ยังช่วยสร้างบรรยากาศผ่อนคลายภายในห้องน้ำได้อีกด้วย แต่อย่าลืมว่าการเลือกใช้หลอดไฟควรเลือกชนิดที่สามารถกันน้ำและความชื้นได้ในตัว อีกเทคนิคหนึ่งที่นักออกแบบชาวญี่ปุ่นชอบใช้สำหรับตกแต่งห้องน้ำให้ดูโมเดิร์นแต่ก็ยังคงความมินิมอลนั่นคือการใช้ ไฟซ่อนผนัง (Indirect Lighting) ติดตั้งไว้ตามซอกมุมผนัง หรือหลังบานกระจกต่าง ๆ ช่วยให้แสงสว่างที่ไม่มืดจนอึดอัดเกินไป ขณะเดียวกันก็ดูอบอุ่นกำลังดี

ความปลอดภัย

ห้องน้ำในที่อยู่อาศัยของไทยมักมีหลายห้อง เช่น ห้องน้ำชั้นล่างสำหรับแขกหรือผู้สูงอายุ ห้องน้ำในห้องนอนมาสเตอร์ซึ่งจะมีขนาดใหญ่ ดังนั้นการออกแบบควรคำนึงถึงเรื่อง Universal Design ที่สามารถใช้ได้กับคนทุกช่วงอายุ และต้องมีความปลอดภัย เนื่องจากห้องน้ำมักเป็นส่วนที่อาจเกิดอุบัติเหตุได้บ่อย ๆ

การวางแบบแปลนตามแบบห้องน้ำของญี่ปุ่นที่มีการแบ่งโซนเปียกและแห้งไว้อย่างชัดเจน มีข้อดีในเรื่องของความปลอดภัยซึ่งอาจลดอัตราการลื่นหกล้มได้อย่างดี ทั้งนี้การออกแบบห้องน้ำญี่ปุ่นให้เอื้อต่อความปลอดภัยของผู้สูงอายุนั้น ควรลดทางต่างระดับให้ได้มากที่สุด นับตั้งแต่ทางเข้า ควรติดตั้งพื้นลาดเพื่อให้เคลื่อนย้ายรถเข็นของผู้สูงอายุได้ง่าย และควรติดตั้งราวหรือมือจับตามผนังต่าง ๆ

ความปลอดภัยของห้องน้ำ ภายใต้หลักการออกแบบ Universal Design

เรื่องแสงสว่างก็ไม่ควรมองข้าม กรณีนี้อาจใช้ประโยชน์จากไฟซ่อนผนังมาติดบริเวณพื้นเพื่อเป็นเหมือนไฟนำทาง ผู้สูงอายุอาจไม่เหมาะกับการก้าวขึ้นลงในอ่างอาบน้ำ ดังนั้นห้องน้ำบริเวณชั้นล่างของบ้าน การเลือกใช้ฝักบัวจึงตอบโจทย์มากที่สุด

สำหรับการตกแต่งนักออกแบบสามารถดัดแปลงโดยการเลือกใช้วัสดุไม้ หรือการใช้โทนสีที่สื่อถึงความเรียบง่ายและเป็นธรรมชาติในการตกแต่ง ขณะเดียวกันควรเลือกใช้พื้นกันลื่น และไม่ควรใช้ประตูกระจกใสสำหรับแบ่งแยกโซนเปียกและแห้งเพราะจะแตกได้ง่ายหากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น ควรเพิ่มมือจับ หรือม้านั่งสำหรับอาบน้ำ รวมถึงติดตั้งออดส่งสัญญาณกรณีฉุกเฉิน

กรณีที่เป็นห้องน้ำชนิดที่มีอ่างอาบน้ำควรลดความลึกของอ่างจากปกติที่มีความลึกประมาณ 60 เซนติเมตรลงไปให้เหลือที่ประมาณ 40 เซนติเมตร แน่นอนว่าควรเพิ่มราวจับ และภายในอ่างควรมีสเต็ปเตี้ย ๆ สำหรับนั่ง หรือจะให้ดีอาจติดตั้งที่นั่ง Bath Lift ซึ่งเป็นเก้าอี้สำหรับใช้ในอ่างอาบน้ำโดยเฉพาะเพื่อให้ลุกหรือนั่งได้ง่ายขึ้น เท่านี้ก็จะช่วยลดอุบัติเหตุจากการลื่นล้มหรือจมน้ำในผู้สูงอายุได้แล้ว

การออกแบบห้องน้ำไทยให้เป็นสไตล์ญี่ปุ่นไม่ใช่เรื่องยาก สิ่งที่ควรคำนึงถึงเป็นสำคัญคือความเรียบง่าย ใช้วัสดุที่ให้ความรู้สึกถึงธรรมชาติให้ได้มากที่สุด ขณะเดียวกันก็ควรคำนึงถึงการใช้งานให้เหมาะสมกับชีวิตประจำวัน อาจเพิ่มลูกเล่นเสริมความเรียบง่ายด้วยเทคโนโลยีซึ่งจะตอบโจทย์ชีวิตยุคใหม่ได้อย่างดี ขณะเดียวกันก็ควรคำนึงถึงความปลอดภัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ออกแบบควรคำนึงทั้งเรื่องความสวยงาม ขณะเดียวกันก็ต้องให้สะดวกต่อการเคลื่อนไหวของเจ้าบ้านสูงวัย

แนะนำอ่านต่อ : ออกแบบห้องน้ำผู้สูงอายุอย่างไร!? ให้อุ่นใจทั้งครอบครัว

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *