วิธีติดตั้งชักโครกให้ปลอดภัย เพื่อสมาชิกทุกคนในครอบครัว

วิธีติดตั้งชักโครกให้ปลอดภัย เพื่อสมาชิกทุกคนในครอบครัว

หากชักโครกที่บ้านเริ่มมีอาการชำรุดหรืออุดตันบ่อย นี่อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า คงถึงเวลาแล้วที่ต้องเปลี่ยนชักโครกเสียใหม่ เพราะหากปล่อยไว้นานไปปัญหาจะยิ่งบานปลาย สร้างบรรยากาศหรือสุขอนามัยที่ไม่ดี ให้กับคนในบ้านของเราได้ แต่หลายคนอาจจะคิดว่านี่เป็นงานใหญ่และคงยุ่งยาก จะต้องจ้างช่างให้มาช่วยติดตั้งให้เท่านั้น แต่จริงๆแล้วเราสามารถเลือกชักโครกคุณภาพดีและติดตั้งเองได้แบบที่ใคร ๆ ก็ทำเองได้

เตรียมเครื่องมือและอุปกรณ์

การเปลี่ยนชักโครกเก่ามาเป็นอันใหม่ที่ดีกว่าเดิม แม้จะไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยนัก แต่ก็ไม่ได้นับว่าเป็นเรื่องแปลก เพราะแท้จริงแล้ว เมื่อใช้ไปนานวันเข้า ชักโครกแบบเดิมอาจไม่ได้ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของเราเหมือนเคย เช่น มีผู้สูงอายุในบ้านเพิ่มขึ้น หรือชักโครกเก่าเกิดการชำรุดจนอาจไม่ปลอดภัยต่อคนในบ้าน แต่ก่อนที่จะเรียนรู้วิธีการติดตั้งชักโครกใหม่ เราต้องเตรียมเครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับถอดชักโครกเดิม และเพื่อการติดตั้งใหม่ให้พร้อมเสียก่อน ได้แก่

    • ตลับเมตร
    • ค้อนหงอน
    • ฟองน้ำและถังใส้น้ำ
    • ถุงมือยาง
    • ปะเก็นแว็กซ์ (Toilet Wax Ring) หรือ ปะเก็นยาง (Toilet Rubber Ring)
    • ขั้วต่อแบบยืดหยุ่น (เป็นบางรุ่นของสุขภัณฑ์)
    • ประแจแบบปรับได้
    • เกรียงโป๊ว
    • มีด หรือคัตเตอร์
    • ผ้าขี้ริ้ว หรือผ้าขนหนูผืนเล็ก
    • ปูนซีเมนต์ขาว
    • ซิลิโคนยาแนว (แนะนำเป็นแบบกันเชื้อรา)
วิธีติดตั้งชักโครกให้ปลอดภัย เพื่อสมาชิกทุกคนในครอบครัว

จัดการถอดชักโครกเดิม!!

1. ปิดวาล์วน้ำ

ก่อนจะถอดชักโครกเดิมออก ห้ามลืมปิดวาล์วน้ำเด็ดขาด ปิดโดยหมุนวาล์วตามเข็มนาฬิกา หรือหมุนไปทางขวาเพื่อเป็นการปิดน้ำไม่ให้ไหลเข้าสู่ถังพักน้ำชักโครก

2. วัดตำแหน่งที่ตั้งของชักโครก

ก่อนที่จะถอดชักโครกเดิมออก เราควรใช้ตลับเมตรมาวัดระยะห่างท่อน้ำทิ้ง ของโถชักโครกเดิมกับผนังก่อนว่าชักโครกใหม่จะนำมาใส่แทนที่ได้พอดีหรือไม่ ปกติแล้วระยะห่างมาตรฐานที่ใช้ได้กับชักโครกแทบทุกประเภทคือประมาณ 30-30.5 เซนติเมตร แต่หากของเดิมอยู่ไกลกว่านี้ อาจจะต้องดูชักโครกใหม่ที่มีขนาดใหญ่กว่า หรือมีไซส์พิเศษ

3. กำจัดน้ำออกจากถังพักน้ำชักโครก

เปิดฝาถังพักน้ำด้านหลังขึ้น และกดที่กดชักโครกลงให้น้ำไหลออกจากถังให้ได้มากที่สุด

4. ทำความสะอาดถังพักน้ำ

ขั้นตอนนี้เราจะสวมถุงมือยาง และใช้ฟองน้ำซับน้ำที่ยังเหลืออยู่ในถังพักน้ำออกจนหมด ขั้นตอนคือกดฟองน้ำเพื่อซับน้ำและนำไปบีบน้ำออกใส่ถังที่เตรียมไว้ ทำซ้ำไปจนไม่เหลือน้ำในถังพักน้ำเพื่อความสะอาดเวลาที่ยกชักโครกออก

5. ถอดขั้วต่อออก

ที่ด้านหลังของชักโครกจะมีสายซึ่งต่อกับท่อสำหรับจ่ายน้ำ วิธีคือใช้ประแจหมุนตรงขั้วต่อแบบทวนเข็มนาฬิกา ขั้นตอนนี้อาจหาผ้าหรือถังมารองน้ำขณะถอด เพราะบริเวณนี้อาจยังมีน้ำขังอยู่

6. ถอดนอตชักโครก

ต่อมาให้มองหานอตบริเวณฐานของชักโครก ปกติแล้วจะมีฝาครอบนอตครอบอยู่ ให้นำออกแล้วใช้ประแจคลายนอตโดยหมุนตามทิศทวนเข็มนาฬิกา นำนอตออกให้หมด รวมถึงแหวนรองโลหะ และแหวนรองพลาสติกด้วย

7. ทำลายปูนยาแนวออก

รอบ ๆ ฐานของชักโครกจะมีปูนยาแนวคอยยึดตัวชักโครกกับพื้นเอาไว้ ให้ใช้มีดหรือคัตเตอร์กะเทาะยาแนวออกให้หมดเพื่อให้ยกชักโครกออกมาได้ง่าย เสร็จแล้วก็ล้างทำความสะอาดพื้นให้เรียบร้อย

8. กำจัดปะเก็นแว็กซ์เดิม

เมื่อยกชักโครกออกไปแล้ว เราจะเห็นปะเก็นแว็กซ์ซึ่งมีลักษณะเป็นยางรูปวงแหวน ใช้ติดใต้ชักโครกเพื่อป้องกันกลิ่นย้อนจากท่อ วิธีเอาออกคือใช้เกรียงโป๊วแซะปะเก็นแว็กซ์ขึ้นมาแล้วนำไปทิ้งโดยห่อกระดาษให้เรียบร้อย ระวังโดนผิวหนังเพราะอาจทำให้เกิดอันตรายได้

9. ถอดสลักเกลียวเก่าและเปลี่ยนเป็นอันใหม่

ชักโครกใหม่มักมาพร้อมกับสลักเกลียวอันใหม่ด้วย ให้ใช้ประแจขันนอตอันเก่าออก และเปลี่ยนใส่อันใหม่เข้าไปแทนที่

วิธีติดตั้งชักโครกให้ปลอดภัย เพื่อสมาชิกทุกคนในครอบครัว

วิธีติดตั้งชักโครกใหม่

เมื่อถอดชักโครกเก่าออกไป และทำความสะอาดพื้นที่ตรงนั้นเรียบร้อยแล้ว ต่อมาก็ได้เวลาติดตั้งชักโครกใหม่กันแล้ว สำหรับการติดตั้งโถชักโครก แบ่งได้เป็นแบบที่ใช้และไม่ใช้ปูนขาว ซึ่งมีวิธีติดตั้งชักโครกทำได้ดังนี้

1. การติดตั้งแบบที่ใช้ปูนซิเมนต์ขาว

  • วัดตำแหน่งเทปูน : ปกติแล้วชักโครกใหม่มักมาพร้อมกระดาษแข็งซึ่งทำเป็นรูปฐานชักโครกเอาไว้วัดขนาดและตำแหน่งการติดตั้งให้พอดี หรือหากไม่มี ให้ลองนำชักโครกมาวางตั้งดู จากนั้นใช้ดินสอวาดเส้นรอบฐานเพื่อใช้เป็นตำแหน่งเทปูน
  • เทปูน : ให้นำเกรียงจุ่มปูนขาว แล้วนำมาก่อตามเส้นที่วาดเอาไว้ โดยอาจก่อให้กว้างกว่าขอบเล็กน้อย
  • ติดปะเก็นแว็กซ์ที่ฐานชักโครก : นำปะเก็นแว็กซ์อันใหม่มาติดบริเวณใต้ฐานชักโครกก่อนนำไปติดตั้ง
  • วางชักโครกลงบนปูนและสลักเกลียว : นำชักโครกใหม่วางลงบนปูนที่เทไว้ให้เรียบร้อย และต้องกะให้พอดีกับตำแหน่งท่อน้ำทิ้ง ยึดฐานให้แน่นโดยการกดตัวชักโครกลงไป ปรับระดับไม่ให้เอียง
  • แต่งยาแนวให้สวยงาม : ใช้นิ้วมือเกลี่ยปูนให้สวยงาม และปล่อยให้แห้ง จากนั้นค่อยใช้ฟองน้ำมาเช็ดบริเวณรอบ ๆ เพื่อจัดการคราบส่วนเกิน
  • ขันนอตสลักเกลียว : ใช้ประแจขันนอตตรงสลักเกลียวที่ฐานให้แน่นพอดีเพื่อไม่ให้ฐานเคลื่อนที่ แต่ไม่ควรขันแน่นมากจนเกินไป
  • ติดตั้งส่วนประกอบอื่น ๆ : นำส่วนประกอบอื่น ๆ ของชักโครกมาติดตั้ง เช่น ตัวถังพักน้ำชักโครก ติดตั้งขั้วต่อให้เรียบร้อย เปิดวาล์วน้ำเพื่อเติมน้ำเข้าสู่ถัง

2. การติดตั้งแบบไม่ใช้ปูนซิเมนต์ขาว

ขั้นตอนส่วนใหญ่จะคล้ายกับแบบที่ใช้ปูนขาว แต่ต่างกันตรงที่วิธีติดตั้งชักโครกแบบนี้จะใช้การยึดกับสลักเกลียวเท่านั้น และยิงซิลิโคนที่ฐานเล็กน้อยเพื่อความมั่นคงของชักโครก

  • ติดปะเก็นแว็กซ์ที่ฐานชักโครก 
  • ติดตั้งชักโครกบนสลักเกลียว 
  • ขันนอตสลักเกลียว
  • ติดตั้งส่วนประกอบอื่น ๆ 
  • ยิงซิลิโคนยาแนวที่ฐาน เพื่อเป็นการยึดฐานชักโครกกับพื้นห้องน้ำให้มั่นคง ใช้ซิลิโคนยาแนวยิงบริเวณรอบ ๆ ฐาน จากนั้นเกลี่ยให้สวยงาม

ข้อควรระวังในการติดตั้งชักโครก

แม้ว่าการติดตั้งชักโครกนั้นไม่ได้ถือเป็นเรื่องที่ยากจนเกินไป แต่หากพลาดไปนิดเดียวก็อาจทำให้ต้องเสียเวลาได้เหมือนกัน ข้อควรระวังในการติดตั้งชักโครกด้วยตัวเองมีดังนี้

  • วัดระยะห่างของท่อน้ำทิ้งให้ดีก่อนซื้อชักโครกใหม่ 

ระยะมาตรฐานอยู่ที่ประมาณ 30-30.5 เซนติเมตรก็จริง แต่ก็ใช่ว่าจะเข้าได้กับชักโครกทุกยี่ห้อ ดังนั้น ก่อนซื้อชักโครกใหม่ ควรวัดระยะให้แน่ใจก่อน หากชักโครกติดตั้งไม่ตรงกับท่อ อาจทำให้เกิดปัญหากลิ่นไม่พึงประสงค์ไหลย้อนกลับเข้ามาในห้องน้ำได้ 

  • ผสมปูนขาวในอัตราส่วนที่พอดี

ควรผสมปูนขาวในอัตราส่วนตามที่แนะนำไว้บนบรรจุภัณฑ์ เพราะหากผสมเหลวเกินไปจะทำให้ไม่สามารถยึดเกาะตัวชักโครกได้

  • ระวังเรื่องการติดตั้งปะเก็นแว็กซ์

เมื่อติดตั้งปะเก็นแว็กซ์ไปครั้งนึงแล้วจะไม่สามารถถอดเพื่อใช้ใหม่ได้อีก นั่นเท่ากับว่า หากมีการติดตั้งผิดพลาด จะต้องถอดปะเก็นแว็กซ์นั้นออกแล้วทิ้งไปทันที ดังนั้นการติดตั้งควรจะมั่นใจจริง ๆ และควรซื้อปะเก็นแว็กซ์สำรองไว้ด้วย

  • ไม่ควรขันนอตสลักเกลียวแน่นเกินไป

แน่นอนว่าเราควรขันนอตบริเวณฐานให้แน่นเพื่อไม่ให้ชักโครกเคลื่อนที่ได้ แต่การขันแน่นเกินไปอาจทำให้ตัวฐานชักโครกเกิดรอยร้าวจนชำรุดได้

  • ทดสอบการรั่วซึม

เมื่อติดตั้งเสร็จแล้ว ควรตรวจสอบดูว่ามีน้ำรั่วซึมจากจุดไหนหรือไม่ โดยการทดลองกดน้ำดูหลาย ๆ ครั้ง หากพบว่ามีน้ำรั่วซึม ให้ลองตรวจสอบดูที่บริเวณข้อต่อ หรืออาจขันนอตบริเวณฐานให้แน่นขึ้น แต่ถ้าหากยังคงมีน้ำรั่วอยู่ อาจจะต้องถอดชักโครกออกมาและเช็กที่ปะเก็นแว็กซ์ให้ดีว่าติดตั้งได้แน่นพอหรือไม่

ทั้งหมดนี้คือขั้นตอนการติดตั้งชักโครกที่เราสามารถติดตั้งเองได้ง่าย ๆ โดยไม่ต้องง้อช่าง แต่หากใครยังคงไม่มั่นใจ และต้องการให้ผู้ที่เชี่ยวชาญมาติดตั้งให้มากกว่า แนะนำให้มองหา และพิจารณาสุขภัณฑ์ ที่มีบริการติดตั้งให้จะดีที่สุด อย่างเช่นสุขภัณฑ์ของ Kudos เพราะนอกจากเราจะไม่ต้องเปลืองแรงแล้ว ยังได้ความมั่นใจว่าทั้งชักโครกและขั้นตอนการติดตั้งจะมีคุณภาพจริง ๆ อีกทั้งยังมีบริการหลังการขายคอยให้คำแนะนำและคำปรึกษาอย่างดีด้วย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *