เมื่อพูดถึงเรื่องราวของช่วงอายุและความเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ก็ต้องยอมรับว่า ประเทศไทย กำลังก้าวเข้าสู่สังคมชราวัยมากขึ้นไปทุกที ชนิดที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะแต่เริ่มเดิมที ประเทศไทยกลายเป็นสังคมสูงวัยมาตั้งแต่ปี 2548 แล้ว และในปัจจุบัน สังคมไทยเราก็กำลังตบเท้าเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ หรือที่เรียกว่า Complete Aging Society นั่นเป็นสัญญาณที่กำลังบ่งบอกว่า ประชากรไทยกำลังจะมีผู้สูงวัยในอัตราถึง 20% จากทั้งหมด และยังมีสิทธิ์แตะ 30% ในอีก 10 กว่าปีข้างหน้า เรียกได้ว่า ประชาชนพลเมืองไทยจะต้องอาศัยร่วมกับผู้สูงวัยมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งหนึ่งในหลายคนเหล่านั้นก็อาจเป็นพ่อแม่ พี่น้อง หรือ ญาติผู้ใหญ่ ของเรานั่นเอง
ฉะนั้น การตระเตรียมสิ่งดี ๆ ตลอดจนที่พักอาศัยให้กับเหล่าผู้สูงวัย จึงเป็นสิ่งจำเป็นมาก เพราะ ที่พักอาศัย หรือ บ้าน เปรียบเสมือนเคหสถานที่สำคัญมากที่สุดในยามบั้นปลายชีวิตหรือในวัยเกษียณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังสถานการณ์โควิด-19 ผู้สูงวัยส่วนใหญ่ที่เริ่มวางแผนที่อยู่อาศัยกว่า 75% ได้ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งอำนวยความสะดวกในบ้าน ไม่เพียงแต่จะต้องปลอดภัย แต่บ้านยุคใหม่จะต้องส่งเสริมสุขภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะ “ห้องนอน” ที่เรียกได้ว่า มีแค่ Senior-Friendly ไม่พอ ต้องมาพร้อมกับ Eco-Friendly ด้วยถึงจะตอบโจทย์ผู้สูงวัยยุคใหม่
วันนี้ Kudos เลยจะพาทุกคนไปศึกษและเรียนรู้เกี่ยวกับห้องนอนสำหรับผู้สูงวัย มีอะไรบ้างที่ควรรู้ หรือให้ความสำคัญเป็นพิเศษ จะสร้างใหม่หรือรีโนเวทห้องนอนให้กับพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่อย่างไรให้ตอบโจทย์ ตลอดจนการเลือกใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ มาปรับใช้กับห้องนอนวัย 60+ ให้ครบองค์ประกอบ พร้อมอยู่!
5 สิ่งสำคัญที่ควรคำนึง ก่อนรีโนเวทห้องนอนโฉมใหม่ให้ผู้สูงอายุ
ส่วนใหญ่แล้ว ผู้สูงวัยในยามบั้นปลายชีวิต มักเลือกจะอยู่บ้านเดิมมากกว่าจะย้ายไปอยู่บ้านใหม่ แน่นอนว่าแนวทางแก้ไขของลูกหลาน ก็ต้องจัดแจงมารีโนเวทเพื่อรองรับ แต่บทจะอัปเกรดไปเลยทั้งหลังก็คงมีค่าใช้จ่ายสูงพอสมควร ฉะนั้น การปรับปรุงเฉพาะส่วนจึงนิยมมากสำหรับการรีโนเวทบ้านให้ผู้สูงอายุ และนี่คือ 5 สิ่งและ 5 ส่วนที่ควรคำนึงถึงก่อนการลงมือรีโนเวท

1. เตียงนอน เช็กระดับสูงต่ำให้ดี ไม่มีปวดหลัง
“เตียงนอน” หัวใจหลักที่เสริมความเป็นห้องนอนให้สมบูรณ์แบบ แต่สำหรับคนสูงวัย รูปแบบเตียงจะต้องไม่สูงหรือต่ำจนเกินไป เพื่อหลีกเลี่ยงอาการปวดหลังหรือข้อเข่าเสื่อมโทรม ซึ่งเป็นอาการที่มักเกิดเป็นปกติในผู้สูงอายุ ความสูงของเตียงที่ดีที่สุด เช็กได้ง่าย ๆ ให้ผู้สูงวัยลองนั่งบนเตียง หากเท้าแตะพื้นและเข่าทำมุม 90 องศา นั่นเท่ากับว่า เตียงนั้นคือเตียงที่ดีต่อญาติผู้ใหญ่ของคุณที่สุด อีกทั้ง ความหนาของฟูกที่นอนก็สำคัญ ฟูกที่ดีจำเป็นต้องมีความหนาแน่นสูงเพื่อให้นอนสบาย ช่วยเสริมการจัดแนวกระดูกสันหลังยามใช้งานได้ ได้ทั้งความปลอดภัยและสุขภาพไปในตัว
2. พื้นห้อง ต้อง Safety สุดๆ
สำหรับคนสูงวัย จะเดินเหินแต่ละที อาจมีสะดุดหกล้มได้ง่าย ๆ “พื้นห้อง” จึงจำเป็นต้องมีความปลอดภัยสูงจริง ๆ ตั้งแต่การเลือกวัสดุที่กันลื่นและเป็นมิตร เช่น พื้นไม้ลามิเนต ไม้ก๊อก พื้นยาง และเสริมทัพด้วยการปูพรมอีกชั้น ก็จะยิ่งช่วยเพิ่มผิวสัมผัสให้นุ่มนวล หรือหากสะดุดหกล้มในบางครั้ง จะลดแรงกระแทกได้
3. แสงสว่างที่เพียงพอและครอบคลุม
แสงสว่าง สำคัญเสมอกับการใช้ชีวิตของผู้สูงวัยในยามที่สายตาไม่ได้มองชัดเจนเท่าแต่ก่อน ห้องนอนสำหรับผู้สูงอายุ จึงจำเป็นต้องมีการติดตั้งระบบไฟที่ครอบคลุมและสะดวก ง่ายต่อการใช้งาน ควรเสริมระบบไฟเฉพาะจุด เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการหาสิ่งของ หรือเดินเหินตอนกลางคืน ลดโอกาสในการสะดุด หรือหกล้ม
4. ราวหรือที่จับ ต้องกระชับ ใกล้มือ
ลูกบิดประตูแบบเดิมอาจเป็นอันตรายและเสี่ยงต่อการจับพลาดได้ในผู้สูงอายุ ฉะนั้น การปรับเปลี่ยนราวจับหรือลูกบิดประตู จึงต้องคำนึงมากในการรีโนเวทห้องนอน ควรขยับมาใช้ลูกบิดแบบคันโยกที่จับถนัดมือและออกแรงน้อยในการเปิด เสริมด้วยราวทางเดินยาวในผู้สูงอายุที่อาจมีปัญหาเรื่องการเดิน
5. โทนสีและดีไซน์
เชื่อหรือไม่ว่า สี มีส่วนสำคัญมากสำหรับห้องนอน โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ เพราะโทนสีของห้องมีส่วนส่งเสริมอารมณ์ความรู้สึกของผู้อยู่อาศัยได้ การเลือกใช้สีห้องนอน โทนพาสเทล ขาวนวล หรือ น้ำตาลอ่อน ๆ จะเข้ากันดีกับผู้สูงวัย เนื่องจากสีเหล่านี้มักให้ความสบายตา สบายใจ และผ่อนคลายกว่าโทนอื่น ๆ
5 เทคโนโลยีน่าใช้ เสริมดีไซน์ห้องนอนผู้สูงอายุให้อัจฉริยะ

ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป อะไร ๆ ก็ต้องปรับอัพเกรดให้ดียิ่งขึ้น และยิ่งกับบ้านยุคใหม่ในหมู่ผู้สูงอายุ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ทำให้บ้านกลายเป็น Smart Home ทันสมัย จะยิ่งทำให้ลูกหลานมั่นใจได้ว่า พ่อแม่ หรือ ญาติผู้ใหญ่ จะสามารถอยู่อาศัยในวัยเกษียณได้อย่างสะดวกสบาย ปลอดภัยหายห่วง และนี่คือ 5 เทคโนโลยีที่น่าหยิบมาใช้ ไม่เพียงแต่จะทำให้บ้านน่าอยู่อาศัย แต่ยังเสริมความปลอดภัยให้รัดกุมขึ้นเป็นเท่าตัว !
1. ระบบไฟอัจฉริยะ (Smart Lighting)
ระบบไฟที่ต้องใช้สวิตช์เปิด-ปิดแบบเดิม ๆ อาจไม่สะดวกอีกต่อไป หากผู้สูงวัยต้องลุกไปเปิดปิดบ่อย ๆ ไหนจะเวลาเข้า-ออกห้องน้ำยามค่ำคืน กว่าจะเดินมาถึงสวิตช์ไฟได้ อาจไม่ปลอดภัยเท่าไหร่นัก ฉะนั้น ระบบไฟอัจฉริยะสมัยใหม่ จะมาตอบโจทย์ทั้งด้านความปลอดภัยและความสะดวกอย่างถึงที่สุด ซึ่งระบบไฟอันทันสมัย มักมีด้วยกันหลายรูปแบบ เช่น
- ไฟทางเดิน แบบเซนเซอร์ (Motion Active Sensor Light) : สำหรับห้องนอน มักอยู่บริเวณขอบล่างของเตียง หรือ ติดผนัง เพื่อให้แสงสว่างเฉพาะที่ ไม่ใช้สวิตช์เปิดปิด แค่เพียงเดินผ่าน ไฟทางเดินเหล่านี้ก็สามารถทำงานได้อย่างอัตโนมัติ เป็นประโยชน์สำหรับผู้สูงวัยที่ลุกเข้าห้องน้ำยามกลางคืน เพราะแค่ลุกจากเตียง หรือ เดินผ่าน ไฟก็จะสว่างเห็นทางเดินสู่ห้องน้ำ ไม่ต้องเปิดไฟดวงใหญ่ให้รบกวนคนอื่น
- หลอดไฟ อัจฉริยะ (Smart Light) : มักปรากฏคล้ายหลอดไฟทั่วไป แต่มีคุณสมบัติที่สั่งการได้ด้วยมือถือหรือเสียง ในบางรุ่นจะสามารถตั้งเวลาเปิด-ปิด ตามกิจวัตรของผู้อาศัยได้ ทำให้เซฟทั้งความปลอดภัยและค่าไฟฟ้าไปในตัว
- โคมไฟอัจฉริยะ (Smart Lamp) : นอกเหนือจากระบบไฟหลักภายในห้อง โคมไฟ เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ผู้ใหญ่หลายคนรีเควสว่าต้องมี จะดีกว่าเดิม หากยกระดับมาปรับใช้โคมไฟอัจฉริยะ ที่สามารถสั่งการได้ด้วยเสียง หรือ รีโมตคอนโทรล
2. ปลั๊กไฟอัจฉริยะ (Smart Plugs)
ปลั๊กไฟอัจฉริยะ เป็นเทคโนโลยีทางเลือก ที่เหมาะกับการรีโนเวทอย่างที่สุด เพราะ ปลั๊กไฟสุดเจ๋ง หรือ Smart Plug มีคุณสมบัติช่วยเปลี่ยนเครื่องใช้ไฟฟ้าเดิม ๆ ที่ไม่อยากซื้อใหม่ให้สามารถควบคุมจากระยะไกลได้ อาจผ่านเซนเซอร์ หรือ รีโมตคอนโทรล ซึ่งสามารถใช้ได้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าหลายอย่าง เช่น โคมไฟ เครื่องปรับอากาศ พัดลมตั้งพื้น หรือโทรทัศน์ แค่เพียงจับคู่ปลั๊กไฟอัจฉริยะเข้ากับสมาร์ตโฟน ก็สามารถเปิด-ปิด ตั้งเวลาอุปกรณ์นั้นๆได้ เทียบเท่า Smart Light หรือ Smart Device อื่นๆ นับว่าคุ้มค่าและทดแทนได้ในราคาที่ย่อมเยากว่าระดับหนึ่งเลยทีเดียว
3. อุปกรณ์วัดการนอนหลับ (Sleep Tracker)
ผู้สูงวัย เมื่อยิ่งแก่ตัวไปการนอนหลับอาจเสี่ยงอันตรายมากขึ้น โดยเฉพาะในหมู่ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว หลายครั้งมักเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินยามหลับใหล เทคโนโลยีตัวใหม่ที่ชื่อว่า Sleep Tracker หรือ “อุปกรณ์วัดการนอนหลับ” จะเข้ามามีบทบาทโดยการติดตามการนอน ผ่านระบบที่ทันสมัย ไม่ต้องสวมใส่อุปกรณ์ ไม่ต้องใช้สายวัดชีพจรให้วุ่นวาย แต่เทคโนโลยีชนิดนี้ มีเพียงแค่ แผ่นอุปกรณ์ขนาดเล็กกะทัดรัด ทำการติดตั้งไว้ใต้ที่นอน เท่านี้ ระบบก็สามารถตรวจจับชีพจรตอนหลับได้ ไม่เพียงเท่านั้น แต่ยังวัดคะแนนการนอนหลับว่ามีคุณภาพอยู่ในระดับไหน มีความผิดปกติหรือไม่ มีอัลกอริทึมวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพไปในตัวได้อีกด้วย !
4. ระบบฉุกเฉินอัจฉริยะ (Intelligent Emergency Contact)
เพื่อความปลอดภัยอย่างสูงสุด ห้องนอนผู้สูงอายุสมัยใหม่ ควรจะมีระบบ SOS อัจฉริยะ เป็นพิเศษ โดยเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตามลำพัง ระบบฉุกเฉินอัจฉริยะ สามารถมีรูปแบบได้ทั้งนาฬิกาติดข้อมือ อุปกรณ์ติดผนัง บริเวณเตียงนอน หรือ ห้องน้ำ เพื่อสะดวกต่อการขอความช่วยเหลือในยามคับขัน สัญญาณสามารถส่งเสียงหรือส่งตรงหาลูก-หลานบนมือถือได้
5. ระบบล็อกประตูอัจฉริยะ (Smart Door Lock)
หลายบ้านอาจมีผู้สูงวัยอาศัยตามลำพังเป็นครั้งคราว ช่วงเวลาเหล่านั้นหากบ้านหรือประตูห้องนอนไม่ถูกล็อกกลอนให้ดี อาจมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยตามมาได้ เทคโนโลยีที่จะเข้ามาเสริมความปลอดภัยอีกด้านสำคัญ นั่นคือ ระบบล็อกประตูอัจฉริยะ ในกลุ่ม Smart Door Lock เพราะไม่เพียงง่ายแต่การหยิบจับ เปิดปิด แต่ยังช่วยแก้ปัญหาหลงลืมกุญแจได้ด้วย ซึ่งในปัจจุบันก็มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ มากมาย ไม่จำกัดเฉพาะ Smart Door Lock ที่ใช้กุญแจแบบคีย์การ์ด หรือพาร์สเวิร์ดเท่านั้น แต่สามารถควบคุมการเข้าออก เปิดปิดได้ผ่านสมาร์ตโฟนจากทางไกลกันเลยทีเดียว เรียกว่าสะดวกสุด ๆ หมดห่วงเรื่องความปลอดภัย ลูกหลานเช็กได้ สะดวกสบายกว่าหลายเท่า
ถึงอย่างนั้น การรีโนเวทห้องนอนให้เหมาะกับผู้สูงวัย ยังมีปัจจัยอีกหลายด้านที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ รวมไปถึงยังมีเทคโนโลยีที่น่านำมาปรับใช้ให้กับเหล่าคุณพ่อคุณแม่หรือญาติผู้ใหญ่ อีกหลายแขนงที่น่าสนใจมากๆ คราวหน้า Kudos จะนำข่าวสารดี ๆ แง่มุมไหนมาตีแผ่ใหม่ โปรดติดตามพวกเราไว้ด้วยน้า~