เปิดมุมคิดจากเวที Kudos Faucet Design Award 2016
การออกแบบเพื่อคุณค่าใหม่ บนเส้นทางของ Universal Design
การที่เวทีประกวดออกแบบต่างๆ ไม่ว่าจะในระดับท้องถิ่นหรือระดับนานาชาติ จะสร้างแรงกระเพื่อมให้กับวงการออกแบบได้อย่างเป็นรูปธรรมนั้น ก็ต้องอาศัยการมี ‘จุดยืน’ ที่จริงใจและเป็นเอกลักษณ์อย่างแท้จริง หนึ่งในเวทีดังกล่าวที่เราสัมผัสได้ในปีนี้ก็คือ Kudos Faucet Design Award 2016 ที่มุ่งหวังจะสนับสนุนพัฒนาการใหม่ๆ ของการออกแบบผลิตภัณฑ์บนพื้นฐานของ Universal Design (UD) หรือดีไซน์เพื่อความเสมอภาคและเท่าเทียมของทุกคนในสังคม โดยในปีแรกนี้ทางเจ้าภาพ ‘คูโดส’ ได้กำหนดหัวข้อการประกวดเป็นเรื่องของ ‘ก๊อกน้ำ’ อุปกรณ์ชิ้นเล็กๆ ในชีวิตประจำวันที่ยังคงมีพื้นที่ให้กับการต่อยอดสร้างคุณค่าใหม่ได้อีกมหาศาล
ไฮไลท์ข้อแรกของการประกวด Kudos Faucet Design Award 2016 ครั้งนี้คือการที่ สันติ ศรีวิชาญกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ของแบรนด์คูโดส ได้เรียนเชิญ มร.ซาโตชิ นาคากาว่า ปรมาจารย์ระดับโลกด้าน Universal Design จากประเทศญี่ปุ่น ให้มาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ พร้อมทำเวิร์คช็อปสุดเอ็กซ์คลูซีฟกับผู้สมัครเข้าร่วมการประกวดทุกคน

คุณสันติมองว่าเวทีประกวดนี้ได้เปิดประตูการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุดให้กับทุกฝ่าย ทั้งกับทีมงานของคูโดส ผู้เข้าประกวด วิทยากร และคณะกรรมการทุกท่าน “ดีไซเนอร์ที่เข้าร่วมแข่งขันได้สัมผัสถึงพลังของ Universal Design และมีความกล้าที่จะสร้างสิ่งใหม่เพื่อยกระดับสังคม นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก” นอกจากนี้เขายังเสริมถึงมุมมองการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในอนาคตว่า “Universal Design คือการออกแบบที่คนส่วนน้อยสามารถ ‘ใช้’ ได้ และคนส่วนใหญ่ ‘ชอบ’ ด้วย เป็นวิถีการออกแบบที่จะเอาชนะอุปสรรคในทุกด้านและทุกระดับ” เชื่อแน่ว่าในอนาคตอันใกล้นี้เราคงจะได้เห็นคูโดสพัฒนาก๊อกน้ำ UD ของคนไทยให้เป็นที่ยอมรับในตลาดโลกอย่างแน่นอน
การประกวดในครั้งนี้ มีคณะกรรมการทั้งสิ้นจำนวน 8 ท่าน ได้แก่
- ผศ.ดร.พงศ์พันธ์ อนันต์วรณิชย์, อาจารย์ประจำภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ผศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต, หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- อาจารย์ นภกมล ชะนะ, ประธานหลักสูตรสาขาวิชาศิลปอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
- อาจารย์ กิตติเศรษฐ์ เก่งการค้า, หัวหน้าศูนย์นวัตกรรมด้านการออกแบบ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- อาจารย์ ไชยพิพัฒน์ ปกป้อง, อาจารย์ภาควิชาศิลปอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
- ดร.เจน ชาญณรงค์, บริษัท คิว ทู เอส จำกัด
- Mr. Eiji Sasaki, San-ei Japan
- คุณไพบูลย์ เลิศวงศ์กรกิจ, บริษัท ซี.ไอ.ที. จำกัด (แบรนด์คูโดส)

ในวันประกาศผลการตัดสินรอบสุดท้าย Kudos Faucet Design Award 2016 ได้รับเกียรติจากคณะกรรมการสองท่าน คือ ผศ.ดร.พงศ์พันธ์ อนันต์วรณิชย์ หัวหน้าโครงการศูนย์นวัตกรรมด้านการออกแบบอุตสาหกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขึ้นมาร่วมแลกเปลี่ยนทรรศนะเกี่ยวกับ Universal Design ในวันที่สังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

5 ข้อคิดจาก ดร.พงศ์พันธ์ อนันต์วรณิชย์
- Universal Design ช่วยให้เราทุกคนเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ชีวิตประจำวันได้ เป็นการออกแบบที่ยกระดับ ‘คนทุกกลุ่ม’ ให้เข้าถึงศักยภาพที่แท้จริงของเขา ไม่ใช่เฉพาะกับคนแก่หรือคนพิการเท่านั้น
- ความงามของผลิตภัณฑ์ไม่อาจสัมผัสด้วยตาอย่างเดียว ถ้าเรามองความงามในมุมที่สิ่งนั้น ‘ซื่อตรง’ กับเป้าหมายของมัน ความงามก็จะเกิดขึ้นในมิติของ ‘ความเหมาะความควร’ เช่นเรื่องความยั่งยืน ความเป็นมิตร และความสอดคล้องกับวัฒนธรรม
- ผลิตภัณฑ์และบริการบนรากฐานของ Universal Design ยังต่อยอดไปได้อีกมาก ไม่เฉพาะแต่กับคนทุกกลุ่ม แต่เป็นทุกแง่มุม ทุกมิติของสังคม โดยพิจารณาจาก ‘คน’ ที่เกี่ยวข้องกับงานออกแบบนั้น เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ วิธีคิดนี้จะต่อยอด UD ออกไปทั้งในเชิงกายภาพ เชิงพาณิชย์ และเชิงสังคม
- ดีไซน์ที่สุดยอด คืองานที่ทำให้ผู้ใช้รู้สึกภูมิใจ และมีความสุขที่ได้ใช้สิ่งนั้นในชีวิต
- นักออกแบบที่ดีต้องเปิดตาเปิดสมองและมีความละเอียดอ่อน ไม่ใช่แค่รักสวยรักงามหรือสังเกตเทรนด์ได้เร็ว หัวใจสำคัญคือการรู้จัก ‘เห็นใจผู้อื่น’

5 ข้อคิดจาก ดร.สิงห์ อินทรชูโต
- ในปี พ.ศ. 2568 ประเทศไทยจะมีจำนวนผู้สูงอายุถึงราวหนึ่งในห้าของประเทศ ซึ่งจะทำให้เราเห็นความสำคัญของ Universal Design กันมากขึ้น และไม่ใช่เฉพาะกับคนสูงวัยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกลุ่มคนที่มีข้อจำกัดทางกายภาพอื่นๆ ด้วย
- Universal Design คือการออกแบบที่จะแก้ปัญหาได้ทั้งในเชิงสังคมและเศรษฐกิจ เป็นเรื่องที่ควรได้รับการส่งเสริมอย่างจริงจังนับแต่วันนี้ ปัจจุบันมีองค์ความรู้ภาคทฤษฎีมากมาย แต่สังคมยังขาดการประยุกต์ใช้ในบริบทที่ถูกต้องเหมาะสม
- ในมุมของนวัตกรรมเพื่อสังคม Universal Design ยังมีช่องทางเติบโตเชิงพาณิชย์อีกมาก เชื่อว่าในอนาคตแม้แต่คนรายได้น้อยก็สามารถมีของใช้ที่เป็น UD จริงๆ ในชีวิต
- ความรู้ต้องเดินคู่ไปกับความเข้าใจเสมอ ภาคการผลิตต้องสร้างความเข้าใจที่ลึกซึ้งให้กับคนทำงาน ผลักดันให้เกิดความ ‘ใส่ใจ’ อย่างแท้จริงเพื่อจะนำไปสู่ผลลัพธ์ชั้นเลิศ ไม่ใช่ UD ที่ครึ่งๆ กลางๆ
- ในวิถีการบริโภคสมัยใหม่ ‘ศักยภาพ’ และ ‘อารมณ์’ สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน ฟังก์ชั่นที่ดีต้องมาคู่กับรสนิยมที่ใช่ ดีไซเนอร์ที่เก่งจะสามารถกลั่นอรรถรสนี้ออกมาได้

สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากเวที Kudos Faucet Design Award 2016 ครั้งนี้แบ่งออกได้เป็นสองระดับ หนึ่งคือระดับนิสิตนักศึกษา อันได้แก่ ผลงานของ ชิษณุ นูพิมพ์ กับไอเดียก๊อกน้ำมินิมัล ‘ระบบสัมผัส’ ที่ผสานรวม 3 ฟังก์ชั่น (คือก๊อกน้ำ โฟมสบู่ และช่องเป่าลม) ให้เป็นหนึ่งเดียวกันกับบานกระจกห้องน้ำ ออกแบบขึ้นเพื่อปรับสภาพแวดล้อมภายในห้องน้ำให้ดูเรียบร้อย ประหยัดพื้นที่ ทำความสะอาดง่าย และเป็นมิตรกับผู้ใช้ทุกกลุ่ม

ในระดับบุคคลทั่วไป ผู้ชนะได้แก่ ณัฐวุฒิ เตียวต่อสกุล กับผลงานก๊อกน้ำนวัตกรรม 3 คอนเซ็ปท์ ที่ตอบโจทย์เรื่องการให้ข้อมูล การใช้งาน และการผลิต โดยนำไอเดียของจอแอลอีดีทัชสกรีนเข้ามาผนวกไว้บนตัวก๊อก สามารถแสดงข้อมูลด้านอุณหภูมิ ปริมาณการใช้น้ำ พร้อมเปิดปิดได้ด้วยระบบเซ็นเซอร์ และปรับระดับความสูงของก๊อกได้ ที่สำคัญยังออกแบบให้เหมาะสมต่อการผลิต โครงสร้างมีความแข็งแรง ทำความสะอาดง่าย ไร้ซอกมุม

นอกจากนี้ยังมีผลงานอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกหลายชิ้น อาทิ ก๊อกน้ำพลาสติกบนแนวคิดแบบโมดูล่าร์ ประกอบขึ้นบนกลไกง่ายๆ คล้ายตัวต่อเลโก้ แต่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถถอดเปลี่ยนชิ้นส่วนที่เสียหายได้เอง หรือจะเลือกเปลี่ยนดีเทลของก๊อกตามความชอบและฟังก์ชั่นที่ต้องการก็ได้ เป็นต้น
ที่มา: นิตยสาร Livingetc, October 2016