ปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ ว่า ‘ห้องน้ำ’ เปรียบเสมือนอาณาจักรเล็ก ๆ ที่หลายคนหยิบยกให้เป็นหนึ่งส่วนสำคัญของบ้านเลยก็ว่าได้ เพราะไม่ว่าจะต้องถูกสุขอนามัย หรือดีไซน์จะต้องถูกใจแค่ไหน ห้องน้ำก็ต้องสามารถรองรับการใช้งานที่พอเหมาะพอดี และมีพื้นที่รองรับช่วงเวลาผ่อนคลาย หรือแม้ในยามปลดทุกข์ เมื่อมีห้องน้ำ ก็ต้องมีองค์ประกอบคู่ใจอย่าง ‘โถสุขภัณฑ์’ หรือที่เราหลายคนรู้จักกันดีในชื่อ ‘โถส้วม’ หรือ ‘ชักโครก’ ที่แทบจะเป็นส่วนที่คนเรามักพิถีพิถันในการเลือกเป็นสิ่งแรก ๆ เมื่อจะสร้าง หรือรีโนเวทห้องน้ำ
เดิมทีคนไทยเราอาจคุ้นเคยเป็นอย่างดีในลักษณะโถนั่งยองที่มีมาตั้งแต่สมัยก่อน จนปัจจุบันก็ได้ขยับขยายมาใช้รูปแบบโถส้วม หรือ ชักโครกกันอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นบ้านสร้างใหม่ หรือบ้านรีโนเวท ก็มักเลือกใช้โถสุขภัณฑ์แบบโมเดิร์นให้มามีบทบาทต่อบ้านให้ทันยุคสมัย ด้วยเหตุผลที่ดีกว่าในหลายประการ ทั้งสะดวกกว่า ถูกสุขอนามัย สะอาดปลอดภัย และเติมแต่งห้องน้ำให้ดูน่าใช้งาน เพราะบทบาทของโถสุขภัณฑ์สำคัญขนาดนี้ เราจึงจะพาทุกคนไปทำความเข้าใจกับสาระดี ๆ ของโถสุขภัณฑ์ให้ใกล้ชิดมากขึ้นกว่าเดิม
โถสุขภัณฑ์สมัยใหม่ มีกี่ประเภท ?
โถสุขภัณฑ์ หรือ ชักโครก ในปัจจุบันมีการจัดประเภทหลัก ๆ อยู่ด้วยกัน 2 กลุ่มใหญ่
1. โถสุขภัณฑ์ ตามการติดตั้ง ได้แก่ แบบตั้งพื้น และ แบบแขวนผนัง (ลอยตัว)
1.1 แบบตั้งพื้น
โถสุขภัณฑ์แบบตั้งพื้น หรือ วางพื้น เป็นโถชักโครกที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย และมักพบได้ตามบ้าน หรือคอนโดสมัยนี้ มีลักษณะเป็นแบบติดตั้งลงไปบนพื้นห้องน้ำโดยตรง ให้ความแข็งแรง คงทน เน้นการใช้งานที่ง่าย และสะดวกสบาย รับน้ำหนักได้ดี ที่สำคัญ ไม่ค่อยมีปัญหาจุกจิกตามมา ระบบการฟลัชน้ำก็มีให้เลือกหลากหลายด้วยเช่นกัน
ข้อดี : เป็นที่นิยมใช้ หาง่ายตามท้องตลาด รูปแบบให้เลือกจึงหลากหลายตามไปด้วย ราคาดี มีตั้งแต่ราคาสูงขึ้นอยู่กับดีไซน์และระบบฟลัชชำระล้าง ในส่วนของการติดตั้งก็ง่ายไม่ยากเย็น การซ่อมก็สามารถซ่อมแยกส่วนได้ ไม่ค่อยเป็นปัญหา
ข้อเสีย : การทำความสะอาดส่วนฐานของสุขภัณฑ์ที่อยู่ติดผนังกำแพงจะยุ่งยากสักหน่อย เนื่องจากอยู่ลึกกว่ามือหรือแขนของเราเอื้อมเข้าไปถึง
1.2 แบบแขวนผนัง (ลอยตัว)
อีกหนึ่งประเภทโถสุขภัณฑ์แบบใหม่ ที่มีลักษณะเป็นโถชิ้นเดียวที่มีการติดตั้งแบบฝังเข้ากับผนัง และลอยตัวเหนือพื้นขึ้นมา ดูสะอาดตาและเรียบหรู เพิ่มสไตล์ความเป็นโมเดิร์นให้กับห้องน้ำได้ดี การติดตั้งจะมีความแตกต่างกับแบบตั้งพื้นอยู่ไม่น้อย เนื่องจากการติดตั้งแบบลอยตัว ต้องอาศัยการเตรียมพื้นที่ส่วนผนังให้มีความแข็งแรงระดับหนึ่ง เพื่อรองรับน้ำหนักผู้ใช้งานให้ได้ดีที่สุด
ข้อดี : รูปแบบใหม่ สไตล์เรียบหรู ดูน้อยแต่มาก ทำความสะอาดง่าย ไม่เป็นปัญหาคราบฝังแน่นตามพื้นรอบโถ
ข้อเสีย : การติดตั้งยุ่งยากกว่า มีระบบฟลัชน้ำแค่แบบเดียว ( แบบ Wash Down ) หาซื้อยากกว่าแบบตั้งพื้น ตัวเลือกก็จะน้อยลง และมีราคาที่สูงขึ้นมาอีกระดับ รวมถึงระบบท่อระบายน้ำทิ้งต่าง ๆ ด้วย
2. โถสุขภัณฑ์ ตามชนิดของโถ ได้แก่ แบบชิ้นเดียว และ แบบแยกชิ้น
2.1 แบบชิ้นเดียว
โถสุขภัณฑ์ชนิดนี้จะมีลักษณะเป็นโถชิ้นเดียว ตัวชักโครกจะติดกันกับถังพักน้ำ ไม่มีร่องหรือรอยต่อ จึงมีดีไซน์ที่เรียบสวย และมีความเป็นโมเดิร์นเข้ากับการตกแต่งสมัยใหม่ ผสมผสานกับดีไซน์อื่น ๆ ของห้องน้ำได้ดี เป็นโถสุขภัณฑ์อีกแบบที่ใช้งานก็สะดวก ทำความสะอาดก็ง่าย
ข้อดี : รูปแบบสวยงาม ใช้งานง่าย และดี ไม่มีรอยต่อ น้ำไม่รั่วซึม ระบบการฟลัชน้ำเงียบกว่า
ข้อเสีย : ติดตั้งง่าย ราคาจะสูงกว่าแบบแยกชิ้น หากชำรุดเสียหาย ต้องซื้อเปลี่ยนใหม่ยกเซ็ต
2.2 แบบแยกชิ้น
โถสุขภัณฑ์แบบแยกชิ้น หรือ แบบสองชิ้น จะมีลักษณะเป็นโถชักโครกที่แยกกันกับถังพักน้ำ เป็นชนิดที่มักพบเห็นโดยทั่วไป และส่วนมากจะเป็นโถชักโครกแบบตั้งพื้นเสียส่วนใหญ่ หาซื้อง่าย แต่อาจมีขั้นตอนการติดตั้งที่ซับซ้อนกว่าแบบชิ้นเดียว
ข้อดี : หากชำรุดเสียหาย สามารถซื้ออะไหล่มาเปลี่ยนเฉพาะจุดได้ หาซื้ออะไหล่มาเปลี่ยนแยกได้ หาซื้อไม่ยาก ตัวเลือกเยอะ
ข้อเสีย : เนื่องจากเป็นชิ้นแยก และมีรอยต่อ อาจมีปัญหาน้ำรั่วซึมระหว่างรอยต่อของตัวโถกับแท้งค์น้ำในภายหลังได้ การติดตั้งจะซับซ้อนกว่าแบบชิ้นเดียว และอาจมีสิ่งสกปรกเกาะตามรอยต่อระหว่างตัวโถกับแท้งค์น้ำ ค่อนข้างทำความสะอาดได้ยาก หากไม่รักษาความสะอาดให้ดี

ระบบการชำระล้างของโถสุขภัณฑ์ในปัจจุบัน
ระบบการชำระล้าง หรือ รูปแบบการฟลัชน้ำ ประเด็นที่ควรรู้อีกหนึ่งอย่าง นอกเหนือประเภทโถสุขภัณฑ์ทั้ง 4 แบบด้านบนแล้ว วิธีการชำระล้างของโถแต่ละรูปแบบก็ยังแตกต่างกัน เพราะนั่นจะส่งผลไปถึงฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ของผู้พักอาศัยอีกด้วย
- Siphon Vortex
ระบบ Siphon Vortex มักพบได้ในโถสุขภัณฑ์แบบชิ้นเดียว ได้รับการยอมรับว่าเป็นระบบการชำระล้างที่ดีที่สุด และทรงประสิทธิภาพ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการใช้น้ำที่ค่อนข้างเยอะสักหน่อย ประมาณ 6 – 9 ลิตรต่อครั้งการกด โถสุขภัณฑ์ที่มาพร้อมระบบ Siphon Vortex จะมีอุปกรณ์ภายในที่ทนทาน ใช้หลักการแบบน้ำวน มีเสียงที่เงียบกว่าระบบอื่น
- Siphon – Jet
ระบบ Siphon Jet ปัจจุบันเป็นระที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะสุขภัณฑ์แบบชิ้นเดียว ให้การชำระล้างที่สะดวก รวดเร็ว และกระแสน้ำจะค่อนข้างแรง การกดต่อครั้ง จะใช้น้ำประมาณ 4.5 ลิตร และ 6 ลิตร ถือว่าใช้น้ำไม่น้อยไปไม่เยอะไป ระบบนี้จะเป็นการปล่อยน้ำลงบวกกับรู Jet ด้านหน้าที่จะปล่อยน้ำออกมาเวลากดชำระ จึงทำให้มีความเร็ว แรง และสะอาด เสียงเงียบกว่า Siphonic Wash – Down
- Siphonic Wash – Down
เป็นรูปแบบที่คล้ายกับระบบ Wash Down แต่คอห่านจะมีลักษณะกว้างกว่า และเป็นแบบโค้งกลับ ทำให้ระบบการชำระล้างจะทำงานแบบกาลักน้ำ มีประสิทธิภาพช่วยดูดสิ่งปฏิกูลได้ดีกว่าแบบ Wash Down ที่สำคัญ ระดับเสียงเวลาชำระก็จะค่อนข้างเงียบกว่า แบบ Wash Down ใช้ปริมาณน้ำต่อครั้งประมาณ 3.8 – 6 ลิตร
- Wash Down
ระบบ Wash Down เป็นรูปแบบที่เราพบเห็นมากที่สุดและนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ส่วนใหญ่จะใช้กับสุขภัณ์ที่มีราคาถูก เป็นลักษณะการใช้น้ำใหม่ทดแทนน้ำเก่าเพื่อชะล้างสิ่งปฏิกูลให้ออกไป ง่าย สะดวก และใช้น้ำปริมาณไม่เยอะ โดยโถสุขภัณฑ์ที่มาพร้อมระบบ Wash Down ส่วนใหญ่จะเป็นฟลัชแบบระบบเดี่ยว (Single Flush) ที่จะปล่อยน้ำน้อย ประมาณ 3 ลิตรต่อครั้ง และแบบสองปุ่ม (Duo Flush) ที่จะปล่อยน้ำมากกว่าในอัตรา 4 – 6 ลิตร ซึ่งรูปแบบนี้จะสามารถรองรับการชำระล้างทั้งธุระหนัก และเบาบางรุ่นอาจเป็นระบบฟลัชคู่ Dual flush คือมีสองปุ่มกดให้เลือกใช้งานได้ทั้งถ่ายหนักกับเบา เสียงฟลัชค่อนข้างดัง

โถสุขภัณฑ์ระบบอัตโนมัติ นวัตกรรมใหม่ สะดวกสบาย – อัจฉริยะ!
โถสุขภัณฑ์ หรือ ชักโครกในแบบเดิม ๆ ที่เรารู้จักมักใช้ระบบ Mannual แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่สำหรับยุคสมัยนี้ ยังมีนวัตกรรม สุขภัณฑ์อัตโนมัติ ที่มากับระบบอัตโนมัติ (Automatic Toilets) ทั้งทันสมัย และตอบโจทย์คนยุคใหม่ได้ดี เพราะระบบอัตโนมัตินี้ จะเป็นการทำงานด้วยระบบไฟฟ้าทั้งหมด รองรับการชำระล้างหลายรูปแบบไม่ว่าจะธุระหนัก หรือเบา ในบางรุ่นยังมีระบบอัจฉริยะที่สามารถคำนวณการฟลัชน้ำให้เราอีกด้วย หรือจะเป่าลมให้แห้งก็พร้อมสรรพ ยังไม่นับรวมกับระบบชำระล้างในตัวแบบไม่ต้องลากสายมาฉีด แค่กดปุ่มฟังก์ชันนิด ก็สามารถล้างสิ่งปฏิกูลได้แบบง่ายดาย ไม่เพียงเท่านั้น ในหลายรุ่นยังมีระบบฝารองโถแบบปรับอุณหภูมิอุ่น เพิ่มประสบการณ์ความสบายให้การเข้าห้องน้ำดีกว่าที่เคย ไม่ต้องรู้สึกเย็นวาบเวลานั่งอีกต่อไป เรียกได้ว่า อำนวยความสบายกันแบบสุด ๆ
ปกติแล้วโถสุขภัณฑ์แบบอัตโนมัติ จะมีด้วยกัน 2 รูปแบบ ได้แก่
โถที่มีระบบอัตโนมัติในตัว : รูปแบบนี้ คือชักโครกที่มีการฝังระบบอัตโนมัติในตัวอยู่แล้ว เป็นลักษณะมาพร้อมโถใหม่เอี่ยมบวกกับฟังก์ชันอัจฉริยะโดยไม่ต้องติดตั้งอะไรเพิ่ม เหมาะสำหรับใครที่สร้างบ้านใหม่ หรือ รีโนเวทห้องน้ำให้มีความโมเดิร์นขึ้นกว่าเดิม
ฝารองนั่งระบบอัตโนมัติ : รูปแบบนี้ จะเป็นเพียงฝารองนั่งที่มาพร้อมระบบอัตโนมัติ ไม่ได้เป็นลักษณะมาพร้อมโถ และจะมาในรูปแบบอุปกรณ์เสริมเพื่อไปติดตั้งกับโถสุขภัณฑ์เดิมอีกทีหนึ่ง เหมาะสำหรับคนที่อยากอัปเกรดชักโครกเดิมให้เป็นระบบอัตโนมัติ แต่ก็ยังไม่เหมือนซะทีเดียว เพราะระบบการฟลัชน้ำ ยังคงต้องกดแบบแมนนวลอยู่เหมือนเดิม
ข้อดี : ฟังก์ชันครบ อำนวยความสะดวกมาก ทันสมัย เปิดประสบการณ์ใหม่ในการเข้าห้องน้ำอย่างมีความสุข
ข้อเสีย : ราคาโถสุขภัณฑ์ระบบอัตโนมัติมักมีราคาแพง ส่วนมากจะเริ่มตั้งแต่ ประมาณ 20,000 – 100,000 บาท
และถึงแม้ว่า ราคาค่าเสียหายของชักโครกอัจฉริยะจะแสนแพงเมื่อเทียบกับชักโครกปกติทั่วไป แต่หากมองในแง่มุมประโยชน์ใช้สอยก็ถือว่าคุ้มค่า สมราคาจริง ๆ ราวกับว่าการลงทุนกับโถสุขภัณฑ์คุณภาพเยี่ยมสักโถ ก็เปรียบกับการซื้อเวลาแห่งความสุขเล็ก ๆ เอาไว้ที่บ้านอย่างไรอย่างนั้นเลย

4 ปัจจัยหลักในการเลือกซื้อ ‘โถสุขภัณฑ์’ ในแบบที่ใช่และเหมาะกับการใช้งานที่สุด!
1. ขนาดและความสูงให้พอดี
โถสุขภัณฑ์โดยทั่วไปจะมีขนาดให้เลือกอยู่ 4 ขนาด S M L XL แต่ละขนาดจะแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดที่ระดับความสูงของฝารองนั่ง ซึ่งขนาดที่เรามักคุ้นชิน และนิยมใช้จะเป็นไซซ์ M มีความสูงอยู่ที่ประมาณ 40 เซนติเมตร เทียบเท่ากับความสูงของเก้าอี้นั่งในชีวิตประจำวัน
2. ระบบชำระล้างที่ตอบโจทย์
ระบบชำระล้าง เป็นอีกประเด็นสำคัญที่ควรใส่ใจในการเลือกซื้อโถสุขภัณฑ์ ไม่ว่าจะแบบ Wash Down หรือ Siphon ก็จะส่งผลต่อปริมาณการใช้น้ำทั้งสิ้น ไหนจะเรื่องประสิทธิภาพการชะล้างที่ต่างกันพอสมควร หากใครเน้นการใช้งานที่ทั้งสะดวก รวดเร็ว และคุณภาพดีที่สุด ระบบ Siphon ทั้ง 2 แบบก็อาจตอบโจทย์การใช้งานได้ดีกว่า แต่หากใครเน้นการใช้น้ำน้อย สายประหยัด แต่ก็ยังคงมีประสิทธิภาพดี ระบบ Wash Down อีก 2 แบบก็อาจเป็นตัวเลือกที่ใช่
3. รูปแบบที่ใช่
รูปแบบของโถสุขภัณฑ์ไม่ว่าจะ แบบตั้งพื้น หรือ ติดผนัง ทั้ง 2 ชนิดก็ให้ประสบการณ์ที่แตกต่างกันไป แบบตั้งพื้นก็จะสะดวกสบาย หาซื้อง่าย ไม่ยุ่งยาก แต่หากเป็นแบบติดผนัง อาจต้องใช้กำลังทรัพย์ที่สูงขึ้นมาอีกสักนิด แต่ก็ได้ความสวยหรูดูแพง และความสะอาดสะอ้านแบบโมเดิร์น หรือจะแบบชิ้นเดียว – แบบแยกชิ้น ทั้ง 2 ชนิดนี้ก็ให้ประโยชน์ใช้สอยที่แตกต่างกันไปเช่นกัน
4. รูปทรงที่ชอบ
รูปทรงของโถสุขภัณฑ์มักมีด้วยกัน 2 รูปแบบ ได้แก่ วงกลม และวงรี ซึ่งตามปกติทั่วไปเรามักเคยชินกับวงรีเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากความเพรียวยาว และการรองรับสรีระได้เต็มประสิทธิภาพ แต่รูปทรงแบบวงกลมก็จะตอบโจทย์สำหรับคนที่มีพื้นที่ใช้สอยในห้องน้ำน้อยและจำกัด
ข้อมูลเด็ด เคล็ดลับดี ๆ ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ตั้งแต่ประเภทโถสุขภัณฑ์ไปจนถึงฟังก์ชันที่ต้องคำนึงถึง จะเข้ามาเป็นตัวช่วยชั้นดีที่ให้เหล่านักรังสรรค์บ้านมือใหม่ และมืออาชีพ สามารถเลือกซื้อสุขภัณฑ์ได้ตรงแบบที่ใจต้องการ และที่สำคัญ นอกจากจะได้รูปแบบที่ถูกใจ ก็ยังจะได้โถสุขภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน ตรงกับการใช้งานที่สุด เพราะเราเข้าใจดีว่า ห้วงเวลาเพียงไม่กี่นาทีที่เราเข้าใช้งานโถสุขภัณฑ์ นั่นคือช่วงแห่งความสุขเล็ก ๆ ที่ไม่อาจมองข้ามไปได้!