คุยกับ ซาโตชิ คานากาว่า กูรูด้านการออกแบบเพื่อคนทุกกลุ่มในสังคม (UNIVERSAL DESIGN)

ซาโตชิ คานากาว่า

ซาโตชิ คานากาว่า ผู้ก่อตั้งบริษัทออกแบบ Tripod Design (ประเทศญี่ปุ่น) ถือเป็นนักออกแบบผลิตภัณฑ์รุ่นแรกๆ ที่ริเริ่มและส่งเสริมแนวคิด Universal Design ให้เป็นที่แพร่หลายในญี่ปุ่นและทวีปเอเชีย เขาเป็นอาจารย์ นักวิจัย นักเขียน วิทยากร และที่ปรึกษาด้านการออกแบบ ‘เพื่อมวลชน’ ให้กับบริษัทชั้นนำทั่วโลก คานากาว่าแวะเวียนมากรุงเทพฯ ครั้งนี้เพื่อเป็นวิทยากรพิเศษให้กับงานสัมมนาของ Kudos (คูโดส) Livingetc จับเข่าคุยกับเขาถึงมุมคิดใหม่ๆ ในวิถีของการออกแบบ

UNIVERSAL DESIGN
UNIVERSAL DESIGN

นิยามของ ‘ดีไซน์ที่ดี’ สำหรับคุณ

“ในชีวิตนักออกแบบผมมักจะมีคำถามเสมอๆ นะว่าดีไซน์ที่ดีคืออะไร ซึ่งคำตอบที่เป็นพื้นฐานที่สุดก็คือมันต้องตอบโจทย์สังคมครับ สามารถสร้างคุณค่าบางอย่างให้กับผู้คนได้ ดังนั้นแนวคิดของคำว่า Good Design ก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับบริบททางสังคมที่ไม่เหมือนกัน แต่ถ้าให้ผมมองในมุมที่ส่วนตัวหน่อย ดีไซน์ที่ดีก็ควรจะมอบคุณค่าที่สอดคล้องกับธรรมชาติของผู้ใช้ครับ ทุกวันนี้ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าเราทุกคนใช้ชีวิตภายใต้อิทธิพลของงานดีไซน์ในวิถีใดวิถีหนึ่ง ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นวิถีที่พัฒนามาเพื่อตอบโจทย์ ‘คนส่วนใหญ่’ เหตุผลก็เพราะต้นทุนมันถูกกว่า เป็นเรื่องของการผลิตเชิงพาณิชย์ แต่เราต้องไม่ลืมนะครับว่า ‘คนส่วนใหญ่’ ก็ยังไม่ใช่ ‘คนทั้งหมด’ อยู่ดี …ในสังคมเรายังมีกลุ่มคนส่วนน้อย เช่น คนพิการ คนสูงอายุ ที่ดีไซน์กระแสหลักมักจะลืมนึกถึงไป”

ทำไมถึงคิดว่า Universal Design คือคำตอบ

“แนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลกคือเรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ผู้คนจำนวนมากขึ้นจะเริ่มมีศักยภาพทางกายที่ด้อยลง โลกอนาคตจะไม่ใช่โลกของคนที่แข็งแรงอีกแล้วครับ ที่ญี่ปุ่นเริ่มเป็นมานานแล้ว ไทยก็กำลังก้าวตามมา ผมมองว่าปรากฏการณ์นี้ช่วยให้แนวคิดเรื่อง Universal Design (หรือ UD) ได้รับความสนใจมากขึ้นมาก เพราะเมื่อคนหนุ่มสาวเริ่มเห็นถึงความลำบากของพ่อแม่ตัวเอง เมื่อนั้นเขาก็จะคิดได้ว่านี่ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป… Universal Design จริงๆ ก็ไม่ใช่แนวคิดที่ใหม่นะ ผมว่ามันเป็นรากฐานของการออกแบบด้วยซ้ำ นั่นก็คือการยึดที่ตัว ‘ผู้ใช้’ เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นคนสูงวัย เด็กเล็ก หญิงมีครรภ์ หรือคนที่มีความพิการบางอย่าง ดีไซเนอร์ไม่ควรมองไปที่คนหนุ่มสาวหรือคนที่แข็งแรงเพียงกลุ่มเดียว ผมยกตัวอย่างเช่นหญิงท้องแก่ ถ้าคุณขอให้เขาเดินลงบันไดสูงๆ เขาต้องใช้ความกล้ามากนะ เพราะนอกจากจะต้วมเตี้ยมไม่คล่องตัวแล้ว เขายังมองไม่เห็นขั้นบันไดตรงหน้าเลยด้วยซ้ำ และคุณเชื่อผมมั้ยว่าอินทีเรียดีไซเนอร์ส่วนใหญ่ไม่ได้คิดเผื่อเรื่องนี้กันหรอก เพราะเขาอาจจะไม่เคยท้องไง” (หัวเราะ)

แล้วบันไดที่ออกแบบมา ‘เพื่อทุกคน’ ต้องเป็นยังไง

“เรื่องแรกที่ต้องนึกถึงคือความปลอดภัยครับ ความกว้างและความสูงของขั้นบันไดต้องถูกวิเคราะห์กันใหม่ ราวจับยังไงก็ต้องมี อินทีเรียร์สมัยใหม่บางทีชอบสร้างขั้นบันไดแบบไม่มีราว เพราะมันดูคลีน ดูสวย แต่มันไม่เวิร์คน่ะสิ ยิ่งกับคนท้องหรือคนแก่ด้วยแล้วเราควรทำราวจับให้ทั้งสองข้าง ข้างละสองชั้นเลยด้วย เพราะมนุษย์เรามีทั้งที่ถนัดซ้ายและถนัดขวา มีคนตัวสูงและคนตัวเตี้ย และจากการศึกษาพฤติกรรมคนท้องหรือคนแก่ พวกเขาจะชอบเดินชิดกำแพงครับ มันสบายใจกว่า ถ้าพลาดราวบนก็ยังคว้าราวล่างได้ด้วย เป็น Double Safety”

วิธีการไหนที่ช่วยให้ดีไซเนอร์ ‘เอาใจเขามาใส่ใจเรา’ ได้อย่างแท้จริง

“ง่ายๆ คือคุณต้องลองสมมติตัวเองไปอยู่ในสภาวะข้อจำกัดที่คุณไม่เคยมี (ในชีวิตปกติ) แล้วก็ลองใช้ชีวิตในแบบนั้นดูสักพัก เช่นให้มัดมือมัดนิ้วเป็นเหมือนคนที่เป็นโรคกระดูกหรือคนที่มีนิ้วไม่ครบ ลองดูสิว่าคุณใช้อุปกรณ์บนโต๊ะอาหารหรือช้อนส้อมปกติได้ลำบากแค่ไหน ซึ่งพอคุณสัมผัสมันด้วยความรู้สึกของตัวเอง คุณก็จะคิดได้ครับว่าคุณควรออกแบบช้อนส้อมแบบไหนให้มีบาลานซ์ที่ดีขึ้น จับง่ายขึ้น คุณจะคิดถึงองศาของขอบจาน คิดถึงฐานจานที่ป้องกันการเลื่อนไถล ฯลฯ นี่คือวิธีการสร้างคุณค่าของ UD”

พูดถึงปากกา U-Wing

“ปากกาด้ามนี้เป็นความภูมิใจของผมเลย ครั้งหนึ่งผมเคยไปทำเวิร์คช็อปที่ไต้หวัน มีผู้ร่วมเวิร์คช็อปคนหนึ่งเดินมาขอบคุณผม เขาบอกว่า U-Wing เป็นปากกาด้ามเดียวในโลกที่เขาใช้ได้ และเขาดีใจเหลือเกิน ปากกา U-Wing นี้ผมทำออกมาตั้งแต่ปี 1994 ตอนนั้นผมได้รับจดหมายจากชายคนหนึ่ง เขาเขียนมาบอกว่าเขาโชคไม่ดี ประสบอุบัติเหตุทำให้กำมือไม่ได้ ส่งผลให้เขาใช้ปากกาทั่วไป ‘เซ็นชื่อ’ ไม่ได้อีกต่อไป และนั่นทำให้เขารู้สึกว่า ‘เขาไม่มีตัวตน’ ในสังคม ผมใช้เวลาหนึ่งปีทำวิจัยเรื่องนี้และออกแบบ U-Wing ให้เป็นปากกาที่ไม่ต้องอาศัยวิธีการจับแบบปกติ เช่นคุณกำมือไม่ได้ก็ยังเขียนหนังสือได้ กระทั่งใช้ปากจับก็ได้ ใช้เท้าจับก็ได้ มันจะเอื้อต่อการใช้งานด้วยวิธีการที่หลากหลายสุดๆ ปรัชญาการออกแบบของผมคือ Never Give Up ครับ ผมไม่อยากให้ใครยอมแพ้กับชีวิต”

บทบาทของนักออกแบบในสังคมผู้สูงอายุ

“ผมขอยกตัวอย่างสังคมผู้สูงอายุที่ญี่ปุ่น ทุกวันนี้เราพบปัญหาสำคัญ 3 ข้อ ข้อแรกคือเรามีสถิติผู้เสียชีวิตในบ้านคนเดียวสูงมาก สาเหตุหลักเกิดจากการทานอาหารแล้วติดคอ… มันเศร้านะครับ เป็นตัวเลขที่สูงกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์ถึง 2 เท่า ข้อที่สองคือการเสียชีวิตในห้องน้ำ และข้อที่สามคือการตกบันได ซึ่งถ้าคุณมองแบบคนนอกคุณก็อาจจะคิดว่าอุบัติเหตุในบ้านเป็นความผิดของเจ้าตัว…คุณจะช่วยอะไรได้ แต่ในฐานะนักออกแบบแล้ว ผมว่ามันไม่ใช่นะ ส่วนหนึ่งมันก็เป็นความผิดของเราด้วยที่ไม่เคยออกแบบสภาพแวดล้อมที่ ‘เหมาะสม’ เผื่อไว้ให้ผู้คน ซึ่งจริงๆ เราทำได้นะครับ แค่เปลี่ยนวิธีคิดเพียงนิดเดียว เราก็สามารถจะสร้างสิ่งที่มีคุณค่ามากขึ้นได้ ยิ่งในอนาคตที่เทคโนโลยี Big Data เข้ามาเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมด้วยแล้ว ผมว่า Universal Design จะไปได้อีกไกลเลย”

“แนวคิดของ Universal Design คือการเอาใจเขามาใส่ใจเรา เป็นการคิดแบบเห็นอกเห็นใจ ผมว่าโลกปัจจุบันเราก็ต้องการแค่นี้แหละ” – ซาโตชิ คานากาว่า –

 ที่มา: นิตยสาร Livingetc, August 2016

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *