หากพูดถึงสวนสไตล์ญี่ปุ่น หลายคนอาจจะนึกภาพออกในทันทีว่าสวนสไตล์นี้มีองค์ประกอบเด่น ๆ อะไรบ้าง หนึ่งในภาพจำที่เชื่อว่าหลายคนน่าจะชื่นชอบกันก็คือ “สวนหินญี่ปุ่น” ที่สื่อถึงความเรียบง่าย เน้นความเป็นธรรมชาติในสไตล์ ZEN (เซน) หากอยากยกสวนหินอย่างเซนมาไว้ที่บ้าน ก่อนอื่นเราต้องมาทำความรู้จักกับสวนรูปแบบนี้ให้ดีกันเสียก่อน
“สวนหินญี่ปุ่น” หรือภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า คาเรซันซุย (枯山水 : Karesansui) นับเป็นสวนแบบดั้งเดิมที่เก่าแก่ประเภทหนึ่งของญี่ปุ่น มีบันทึกเอาไว้ตามหลักฐานลายลักษณ์อักษรมาตั้งแต่สมัยเฮอัน (ค.ศ. 794-1185) อยู่ในตำราการจัดสวนญี่ปุ่นเก่าแก่ที่สุดชื่อว่า “ซากูเตกิ (作庭記 : Sakuteiki)” ใช้หิน กรวด หรือทรายเป็นส่วนประกอบมาทำให้เกิดภูมิทัศน์เหมือนสายน้ำกำลังไหล เป็นสวนแบบแห้งที่ใช้ต้นไม้เป็นองค์ประกอบน้อยมาก หรือไม่มีเลย รวมถึงไม่มีน้ำ เพราะต้องการจะสื่อถึงแก่นแท้ของความเป็นนามธรรมและความเรียบง่ายของธรรมชาติซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาพุทธหินยาน ลัทธิเซน บางครั้งจึงมีการเรียกว่าเป็น “สวนแบบเซน” เหมือนกัน
เซน (ZEN) ถือคติเคารพความงามตามแบบธรรมชาติที่เป็นนามธรรม เน้นความเรียบง่าย ความสงบนิ่ง นำมาสู่หลักการการรับรู้ความงามซึ่งเรียกว่า “วาบิ ซาบิ (Wabi Sabi)” ทุกสิ่งล้วนมีความดีงามสมบูรณ์ในตัวมันเองอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่ออยากจะถ่ายทอดวิถีเซนออกมาเป็นสวน หินซึ่งมีรูปร่างแตกต่างกันไป ให้ความรู้สึกเป็นนามธรรมแล้วแต่คนจะจินตนาการจึงเป็นตัวแทนของความงามแบบนี้ได้อย่างดี
และด้วยความที่ต้องการเน้นความสงบ สื่อถึงแก่นแท้ของธรรมชาติ ทำให้สวนหินญี่ปุ่นเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการนำไปตกแต่งเอาไว้ในสถานที่ที่ต้องการสมาธิ ขณะเดียวกันก็เน้นความผ่อนคลาย อย่างเช่นในออฟฟิศ หรือโฮมออฟฟิศเป็นต้น อีกทั้งเนื่องจากเป็นสวนประเภทที่ไม่จำเป็นต้องมีต้นไม้ ใช้หินเพียงอย่างเดียว ทำให้ไม่ต้องการพื้นที่กว้างขวางมากมาย และยังดูแลง่ายอีกด้วย
องค์ประกอบของการจัดสวนหินญี่ปุ่น
สำหรับใครที่เริ่มสนใจการจัดสวนหินแบบญี่ปุ่น ก่อนอื่นเราต้องมาทำความเข้าใจถึงองค์ประกอบการตกแต่งสวนกันก่อนว่ามีอะไร และมีกี่แบบบ้าง โดยองค์ประกอบหลัก ๆ หาไม่ยากและไม่วุ่นวายเลย

- กรวด : หากใครเคยเห็นสวนหินของญี่ปุ่นแล้วจะพบว่าเขามีการใช้ก้อนกรวดเล็ก ๆ มาใช้ปูให้ทั่วทั้งพื้นที่แทนพื้นดิน ส่วนใหญ่แล้วมักจะใช้กรวดที่มีสีขาว เทา ดำ ควรมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 mm. หนา 4 cm. กำลังดี เมื่อปูไปแล้วจะให้ความรู้สึกสงบ สบายตา หรือในภาษาชาววัยรุ่นก็คือมินิมอลนั่นเอง สำหรับพื้นกรวดนี้ นอกจากจะใช้แทนพื้นดินแล้ว ยังใช้แทนพื้นน้ำอีกด้วย เนื่องจากสวนหินญี่ปุ่นจะไม่มีน้ำเป็นองค์ประกอบ แต่ก็ยังอยากจะสื่อถึงธรรมชาติ ดังนั้นในขั้นตอนตกแต่งจึงจะมีการวาดลายน้ำลงไป
- หิน : เราจะใช้หินก้อนใหญ่ที่มีรูปร่างแตกต่างกันไปมาวางประดับตามส่วนต่าง ๆ ของสวน เพื่อจำลองเป็นภูมิทัศน์ของธรรมชาติ หินก้อนใหญ่นี้จะแสดงถึงภูเขาน้อยใหญ่ เมื่อนำมาวางอยู่บนพื้นกรวดสีขาวแล้วจะชวนให้รู้สึกถึงความเป็นนามธรรม ดูแล้วสงบนิ่ง ขณะเดียวกันก็แฝงความแข็งแกร่งของธรรมชาติ
- พืช : ถึงจะบอกว่าเป็นสวนหิน แต่ก็อาจจะมีพืชสีเขียว ๆ แซมอยู่บ้างเพื่อเป็นลูกเล่น และให้ดูสบายตา ส่วนมากจะไม่ใช้ต้นไม้ใหญ่ แต่จะเลือกเป็นพืชต้นเล็ก อย่างพืชคลุมดินพวกมอสส์หรือหญ้ามากกว่า หรือใครอยากเพิ่มลูกเล่นขึ้นมาหน่อย อาจจะปลูกเป็นต้นบอนไซที่มีการดัดกิ่งก้านที่สวยงาม ทั้งนี้หากใครต้องการตกแต่งสวนหินในพื้นที่เล็ก ๆ อาจประดับเพียงแค่กรวดและหินก็ได้เหมือนกัน
- พื้นกระเบื้อง : กรวดที่เรานำมาปูเป็นพื้นสวนนั้นอาจถูกใครเดินเตะจนกระจัดกระจายได้ ดังนั้นเราควรปูกระเบื้องแบ่งโซนกันให้เห็นชัด ๆ สักหน่อย ทั้งยังเป็นที่กันไม่ให้กรวดด้านในกระจายออกมาพื้นที่รอบนอก สำหรับพื้นกระเบื้องมักเลือกสีโทนเดียวกันกับสีของกรวดและหิน เช่น สีขาว เทา ดำ ทำให้ดูสบายตา ขณะเดียวกันก็ให้ความรู้สึกโมเดิร์น

ซามง (砂紋 : Samon) Ref : https://ja.wikipedia.org/wiki/枯山水
- ลวดลายของผืนน้ำ : อย่างที่กล่าวไปแล้วว่ากรวดที่นำมาใช้จะเป็นตัวแทนของแม่น้ำ ทะเล หรือมหาสมุทร ลายที่วาดอยู่บนพื้นกรวดจะเรียกว่า “ซามง (砂紋 : Samon)” ซึ่งมีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นลายวงกระเพื่อมของน้ำ เส้นตรง หรือรอยหยัก แต่ละแบบจะมีความหมายที่แตกต่างกันไป เช่น ลายเซไกฮะ (青海波紋 : Seikaihamon) สื่อถึงคลื่นของมหาสมุทรที่ไม่มีสิ้นสุด ลายอูเนริ (うねり紋 : Unerimon) สื่อถึงลอนคลื่น เป็นต้น
- เครื่องมือวาดลวดลาย : การวาดลวดลายเราจะใช้เครื่องมือที่เป็นเหมือนคราดซึ่งมีรอยฟันสำหรับสร้างลายนูนต่ำบนกรวดได้ มีให้เลือกหลายขนาดตามแบบที่ต้องการ เครื่องมือนี้มักขายกันตามร้านตกแต่งสวนของญี่ปุ่นเลย แต่ถ้าหาซื้อไม่ได้ก็สามารถใช้คราด หรือเครื่องมือใกล้ ๆ ตัวที่พอสร้างลวดลายได้ก็ได้เช่นกัน
- ทางเดินหรือสะพาน : บางคนอาจหาแผ่นหินมาเป็นทางเดินเข้าสู่สวนที่มีดีทั้งความสวยงาม และได้เรื่องของการใช้งานจริง การทำทางเดินเอาไว้จะช่วยให้ง่ายต่อการเดินไปบริเวณต่าง ๆ ของสวน ไม่ต้องเหยียบย่ำบนพื้นกรวดโดยตรง รวมไปถึงการเลือกใช้สะพานไม้แบบญี่ปุ่นเล็ก ๆ มาประดับก็เป็นการเสริมองค์ประกอบของสวนให้สวยได้มากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะสามารถจำลองว่ามีสะพานข้ามสายน้ำซึ่งเป็นหินอยู่เบื้องล่าง
นอกจากนี้สวนหินญี่ปุ่นยังสามารถแบ่งได้อีกหลายประเภทตามการจัดภูมิทัศน์ของสวน
平庭式
ฮิรานิวะ (平庭式: Hiraniwa) สวนหินที่ประดับตกแต่งบนพื้นเรียบ
準平庭式
จุนฮิรานิวะ (準平庭式 : Junhiraniwa) สวนที่ประดับบนพื้นซึ่งอาจทำลวดลายแบ่งชั้นลดหลั่นกันไป
枯池式
คาเรอิเกะ (枯池式 : Kareike) สวนหินที่ตกแต่งเหมือนเป็นบ่อน้ำ แต่ไม่ใช้น้ำ
枯流れ式
คาเรนากาเระ (枯流れ式 : Karenagare) สวนหินที่วาดลวดลายบนกรวดให้เหมือนกระแสน้ำไหล
นอกเหนือจากประเภทที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังอาจพบเห็นสวนหินรูปแบบอื่น ๆ ได้อีก แล้วแต่การดีไซน์
Photo Ref : karesansui.net
สิ่งที่ต้องคำนึงถึงหากอยากจัดสวนหินญี่ปุ่น
อ่านกันมาถึงตรงนี้ เชื่อว่าหลายคนน่าจะต้องเริ่มคิดกันแล้วว่า หากอยากยกสวนหินญี่ปุ่นมาไว้ที่บ้าน จะต้องคำนึงถึงเรื่องอะไรบ้าง ข้อดีข้อเสียเป็นอย่างไร จะเหมาะกับสภาพอากาศบ้านเราหรือเปล่า
- พื้นที่ : หลายคนที่เคยไปญี่ปุ่นอาจจะเคยเห็นว่าปกติแล้วสวนหินญี่ปุ่นมักจัดกันตามลานกว้าง ๆ มีระเบียงสำหรับนั่งชมบรรยากาศ จึงกังวลกันไปว่า หากอยากจัดสวนแบบนี้จะต้องใช้พื้นที่เยอะแน่ ๆ เลย แต่ความจริงแล้ว ไม่จำเป็นเลยค่ะ เพราะไม่ว่าคุณจะมีพื้นที่ขนาดเท่าไหน จะอยู่บ้านหลังใหญ่ หรืออยู่คอนโดที่มีเพียงระเบียงเล็ก ๆ เราก็สามารถจัดสวนหินได้ นั่นเพราะมีองค์ประกอบไม่มาก ใช้วัสดุน้อย เพียงแค่กรวดและหิน เท่านั้นเอง
- งบประมาณ : ด้วยความที่องค์ประกอบมีน้อย และวัสดุก็หาซื้อได้ง่าย ดังนั้นจึงหมดกังวลเรื่องงบประมาณจะบานปลายไปได้เลย ใครอยากประหยัดก็อาจจะตกแต่งสวนด้วยตนเอง หรือใครอยากเน้นความสวยงามแบบญี่ปุ่นจริง ๆ ก็อาจจะหาผู้เชี่ยวชาญมาออกแบบหรือแนะนำให้ ดังนั้นราคาจึงขึ้นอยู่กับพื้นที่ของสวน หรือองค์ประกอบที่ต้องการเสริมเติมแต่งเข้าไป ทั้งหมดนี้เราสามารถกำหนดเองได้ไม่ยาก
- พืช : หากใครต้องการสวนที่มองไปเมื่อไหร่ก็รู้สึกผ่อนคลายและสงบ ไม่ต้องปลูกพืชให้เสียเวลาดูแล สวนหินญี่ปุ่นถือว่าตอบโจทย์ แต่ใครที่ชื่นชอบการปลูกต้นไม้อยู่แล้ว หรือไม่ชอบสวนที่ดูแห้งแล้ง ก็อาจจะคิดถึงจำนวนต้นไม้ที่จะปลูกเพิ่มเข้าไป เมื่อจะมีต้นไม้ อุปกรณ์ตัดแต่งสวน ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องจัดหาไว้เช่นกัน
- การดูแล : สวนหินญี่ปุ่นใช้พืชเป็นองค์ประกอบน้อยมาก จึงไม่ต้องเสียเวลาในการดูแลเรื่องนี้มากนัก แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือลวดลายบนกรวด หากตำแหน่งของสวนเราตั้งอยู่ในที่ที่มีลมแรง อาจพัดมาทำลายลวดลายของกรวดได้ เรื่องนี้จึงอาจจะสร้างความรำคาญใจไม่น้อยที่ต้องคอยมาวาดอยู่บ่อย ๆ แต่หากใครประดับตกแต่งไว้ในอาคารหรือสวนกลางบ้านก็หายห่วงเรื่องนี้ได้เลย เว้นเสียแต่คุณจะมีเด็กเล็ก ๆ ที่เปลี่ยนสวนสวยให้กลายเป็นกระบะทรายแทน แบบนี้คงไม่เหมาะเท่าไรนัก
ขั้นตอนการจัดสวนหินญี่ปุ่น
เมื่อตัดสินใจอย่างแน่วแน่แล้วว่าจะประดับสวนหินญี่ปุ่นไว้ในบ้านหรือออฟฟิศ ต่อไปก็ถึงขั้นตอนการจัดสวนจริงกันแล้ว โดยมีวิธีง่าย ๆ ให้ทำตามดังนี้
- เคลียร์พื้นที่ให้เรียบ : ก่อนที่เราจะเทกรวดลงไป เราควรจัดการพื้นที่ตรงนั้นให้เรียบเสียก่อน ดูว่ามีพืชที่ต้องถอนก่อนไหม มีก้อนหินไหนเป็นอุปสรรคหรือเปล่า
- เทกรวด : เรียบร้อยแล้วก็เทกรวดก้อนเล็กซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญให้ทั่วบริเวณ เกลี่ยให้เรียบเตรียมสำหรับการทำลวดลาย
- ตกแต่งด้วยหินก้อนใหญ่ : จากนั้นเราจะมาสร้างตัวแทนของภูเขาตามวิถีเซนด้วยหินก้อนใหญ่ สามารถจัดวางได้ตามการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นตรงกลาง ตรงมุม หรือริมสวน
- วาดลวดลาย : ขั้นตอนสุดท้ายนี้อาจจะต้องใช้ความอดทนสักเล็กน้อย ให้ใช้วัสดุสำหรับวาดที่เรามีมากดลงบนกรวดเป็นลวดลายตามแบบที่ต้องการ ควรออกแบบทิศทางและลำดับการวาดให้ดีเพื่อไม่ให้เดินเหยียบซ้ำลายที่วาดเอาไว้แล้ว
และนี่ก็คือการจัดสวนหินสไตล์ญี่ปุ่นแท้ ๆ ตามวิถีเซนซึ่งใคร ๆ ก็สามารถจัดตามได้ง่าย ๆ เพราะทั้งวัสดุ องค์ประกอบ หรือการดูแลไม่มีเรื่องไหนที่ยุ่งยากเลย แถมสวนแบบนี้ยังมีต้นกำเนิดมาจากวิถีเซนซึ่งเน้นความเรียบง่าย การเคารพธรรมชาติ เมื่อมองสวนสไตล์นี้แล้วจะให้ความรู้สึกสงบ จึงเหมาะสำหรับนำไปตกแต่งในสถานที่ที่ต้องใช้สมาธิมาก ๆ เช่น ออฟฟิศ หรือโฮมออฟฟิศ